กระดาษสา ภูมิปัญญาโบราณที่ไม่เคยหยุดพัฒนา
Technology & Innovation

กระดาษสา ภูมิปัญญาโบราณที่ไม่เคยหยุดพัฒนา

  • 29 Nov 2023
  • 571

หลายคนรู้จักกระดาษจากประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป แต่หากเอ่ยถึงกระดาษสาในจังหวัดเชียงใหม่ แน่นอนว่าต้องนึกถึงอำเภอสันกำแพง แหล่งผลิตกระดาษสาเก่าแก่และ ‘ร่มบ่อสร้าง’ ของฝากขึ้นชื่อที่นำเสนอภาพของผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาได้เป็นที่จดจำมากที่สุด 

แม้ว่าในวันนี้กระดาษสาจะเป็นภูมิปัญญาที่มีอายุอานามกว่า 100 ปี แต่วัสดุกระดาษพื้นบ้านที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวสันกำแพงนี้ก็ไม่เคยถูกปล่อยให้หยุดนิ่งรอวันสูญค่า ด้วยพลังของช่างฝีมือและผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นสืบสานพร้อมพัฒนาศักยภาพด้วยเทคนิค วิธีคิดและมุมมองแตกต่าง เพื่อให้กระดาษสาสามารถดำเนินต่อไปบนโลกยุคใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์และน่าชื่นชม

กระดาษสา จากเปลือกมัลเบอรี่ถึงผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์
ต้นกำเนิด ‘กระดาษสา’ ของเชียงใหม่อยู่ชุมชนบ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง กว่า 100 ปีมาแล้วที่ชาวชุมชนต้นเปาผลิตกระดาษใช้ในครัวเรือน ส่งขายในชุมชนใกล้เคียงเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าของฝาก กระทั่งส่งออกมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้ไปสู่กลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดและขยายไปยังตลาดต่างประเทศ

แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัยกระดาษสาของที่นี่ยังคงรักษาคุณภาพและความพิถีพิถันใส่ใจในกระบวนการผลิตรูปแบบดั้งเดิม เช่นที่ บ้านอนุรักษ์กระดาษสา หนึ่งในผู้ประกอบการที่เลือกเดินตามรอยทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้วยวิธีการทำมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทุบวัสดุหลักอย่างเปลือกต้นมัลเบอรี่ (ต้นหม่อน) ให้นิ่ม แล้วนำไปต้มจนเปื่อยในน้ำผสมขี้เถ้า ก่อนบดละเอียดพลางแต่งเติมสีสันต่าง ๆ แล้วนำเยื่อไม้ที่ได้ไปแช่ในน้ำสะอาดและใช้โครงไม้ตะแกรงตาถี่ช้อนเยื่อไม้ขึ้นมาจัดแจงเกลี่ยให้ทั่ว โดยในขั้นตอนนี้มีความสำคัญตรงที่เป็นตัวกำหนดความหนา-บาง ของกระดาษ อีกทั้งเป็นขั้นตอนที่ช่างกระดาษสามารถทำการตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติ อาทิ ดอกไม้ ใบไม้ เมล็ดพันธุ์แห้ง หรือทำบาติก ซึ่งเป็นกิมมิคเพิ่มความสวยงามและพัฒนาจุดเด่นให้กระดาษสาดูมีความน่าสนใจมากขึ้น จากนั้นจึงนำไปผึ่งแดดเป็นอันเสร็จพิธี

ปัจจุบันกระดาษสาของบ้านอนุรักษ์กระดาษสามีให้เลือกหลายขนาดไม่ว่าจะ 200 แกรม 300 แกรม 400 แกรม หรือตามความต้องการของลูกค้า และพยายามพัฒนากระดาษให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าการเป็นบรรจุภัณฑ์ กระดาษจด หรือของฝากแบบเดิม แต่ยังมีคุณภาพเพียงพอสำหรับนำไปใช้กับงานตกแต่งภายใน หรือสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ที่เก๋ไก๋และมีเสน่ห์ได้อีกสารพัด

เชือกกระดาษสา วัสดุลูกครึ่งกระดาษ-สิ่งทอ
พูดถึงการพัฒนากระดาษสา ‘เชือกกระดาษสา’ โดย เฮือนปอสา คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการยกระดับวัสดุจากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

เพราะเชือกกระดาษสาไม่เพียงเป็นความพยายามปรับเปลี่ยนรูปทรงของกระดาษจากแผ่นสู่เส้น ด้วยกระบวนการถักในรูปแบบพันเกลียวหรือพับให้มีขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มความเหนียวสำหรับตอบโจทย์การนำไปใช้ผูก มัด หรือประดับตกแต่ง หากยังสามารถนำไปต่อยอดร่วมกับศาสตร์หัตถกรรมสิ่งทอ โดยนำเส้นฝ้ายพื้นเมืองมาเตรียมเป็นเส้นยืนและให้เส้นกระดาษสาเป็นเส้นพุ่ง ก่อผสานทั้งสองวัสดุเข้าด้วยกันผ่านกรรมวิธีการทอมือ จนเกิดเป็นวัสดุที่มีพื้นผิวแบบใหม่ลักษณะคล้ายผ้าทอที่ดูมีความร่วมสมัย น้ำหนักเบาและทนทานกว่างานกระดาษธรรมดาทั่วไป 

นอกจากนี้ทางเฮือนปอสายังพัฒนาคุณสมบัติของเยื่อกระดาษที่ใช้ทำเชือกกระดาษสาให้สามารถทนทานการซึมน้ำในระดับเบื้องต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้อย่างหลากหลาย พร้อมประเดิมสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋า ปกสมุด โคมไฟ รวมถึงของตกแต่งบ้านต่าง ๆ ซึ่งโดดเด่นและสวยงามจนได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว

เรื่อง : คุณากร เมืองเดช