ว่าด้วยหัตถกรรมจากไม้ไผ่ ที่มากกว่าดีไซน์และลายสวย
Technology & Innovation

ว่าด้วยหัตถกรรมจากไม้ไผ่ ที่มากกว่าดีไซน์และลายสวย

  • 29 Nov 2023
  • 664

จุดเด่นของไม้ไผ่คือเป็นพืชที่เติบโตไว ดูแลง่าย และมีความยืดหยุ่น เราจึงเห็นการนำไม้ไผ่มาแปรรูปใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายกลายเป็นภูมิปัญญาที่แต่ละท้องถิ่นต่างคิดค้นและพัฒนาเทคนิคแบบฉบับเฉพาะตัวเช่นภาคเหนือที่มีการนำไม้ไผ่มาต่อยอดผ่านการดัด ขัด ขด และสาน ซึ่งหากมองผิวเผินแล้วอาจทำให้ตัดสินได้ว่าเป็นเพียงดีไซน์หรือแค่ลวดลายเพิ่มความสวยงามแต่ตรงกันข้ามเพราะทุกกระบวนการสร้างสรรค์ล้วนมีความหมาย ซ่อนฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง อีกทั้งยังเชื่อมโยงการทำมาหากินและเศรษฐกิจจึงทำให้วัสดุไม้ไผ่ไม่เคยห่างหายไปวิถีชีวิตและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาจนยุคปัจจุบัน

ไผ่สานป่าบง ภูมิปัญญาลายสานเพิ่มแข็งแรง
ในภาษาเหนือเรียก ‘ไม้ไผ่’ ว่า ‘ไม้บง’ ดังนั้น ‘ป่าบงหลวง’ จึงเสมือนเป็นชื่อที่บอกเรากลาย ๆ ว่าชุมชนแห่งนี้อุดมไปด้วยไม้ไผ่จำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นทุนของภูมิปัญญาหัตถกรรมจักสานที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวชุมชนและส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

โดยงานหัตถกรรมจักสานของ ชุมชนบ้านป่าบง จะใช้ไม้ไผ่สายพันธุ์เฮียะเป็นวัสดุหลัก และมีเทคนิคการสานสร้างลวดลายเอกลักษณ์เฉพาะชุมชนอย่าง ‘ลายสอง’ และ ‘ลายสองมีดี’ ที่จะนำตอก 3 เส้น มาสานขัดกันด้วยการยกและข่มลงเส้นต่อเส้นสลับกันไปมาด้วยความประณีต แม่นยำ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมล้านนาอันละเมียดละไมหากยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้ชิ้นงานจักสานมีความแข็งแรงสามารถรองรับของหนัก อีกทั้งมีการเพิ่มความทนทานและป้องกันปัญหาจากความชื้นด้วยการเคลือบน้ำยาวาณิช จึงเป็นที่นิยมในการนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ อาทิ กระบุง กระเช้า กระจาด รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่มีคุณภาพอีกมากมาย

ไผ่ขดศรีปันครัว ภาชนะสุดเนี้ยบจากตอกไม้ไผ่
นอกจากงานหัตถกรรมจักสาน ไม้ไผ่เฮียะยังสามารถนำมารังสรรค์เป็นชิ้นงานผ่าน ‘การขด’ อีกเทคนิคพิเศษที่ทำให้เกิดวัสดุ ‘ไม้ไผ่ขด’ อันเลื่องชื่อของ ชุมชนศรีปันครัว จังหวัดเชียงใหม่

หัตถกรรมไม้ไผ่ขดเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ได้รับการอนุรักษ์และสืบสานมาอย่างยาวนานในชุมชนศรีปันครัว โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่วิธีการขึ้นรูปด้วยการนำตอกไม้ไผ่มาดัดและขดแบบเรียงต่อแต่ละเส้นให้ชิดติดกันจนได้ขนาดและรูปทรงตามต้องการ จากนั้นจึงยึดให้อยู่ตัวด้วยกาว ขณะเดียวกันหากเป็นชิ้นงานขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ตอกหลายเส้นช่างฝีมือจะต่อเส้นตอกด้วยการบากให้เป็นร่องขนาดเล็กแล้วคล้องเชื่อมกัน ซึ่งถือเทคนิคที่ช่วยให้งานออกมาดูประหนึ่งไร้รอยต่อ เรียบเนียนและสวยงาม 

ความน่าสนใจของไม้ไผ่ขดคือ สามารถขึ้นรูปได้ทั้งทรงกลม ทรงเหลี่ยม และเลือกความหนาบางของเนื้อไม้ได้ตามแต่ความเหมาะสมของการต่อยอดใช้งาน อีกทั้งมีการเคลือบด้วยกาวและดินสอพองผสมขี้เลื่อยเพื่อเพิ่มคุณสมบัติความแข็งแรง เหนียว ไม่แตกหักง่ายและน้ำหนักเบา ทำให้นิยมใช้ทำภาชนะ ขันโตก หรือพานมาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบันที่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยหลายหลากเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์ อาทิ จานรองแก้ว ถาดวางผลไม้ โคมไฟ ภาชนะใส่ของ กล่องใส่ทิชชู่ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ นอกจากนี้ไม้ไผ่ขดยังทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักของเครื่องเขินโบราณ  1 ใน 9 สาขางานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านอันโดดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่

เรื่อง : คุณากร เมืองเดช