หมุนกลับสิ่งของเหลือใช้ เป็นวัสดุใหม่ที่ไฉไลกว่า
Technology & Innovation

หมุนกลับสิ่งของเหลือใช้ เป็นวัสดุใหม่ที่ไฉไลกว่า

  • 30 Nov 2023
  • 459

เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนยุคใหม่หันมาตื่นตัวกับการใช้ชีวิตประจำวันแบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพยายามลดใช้ถุงพลาสติก ปฏิเสธรับหลอด พกกระบอกน้ำ ใช้ซ้ำกล่องกระดาษ และอีกสารพัดสิ่ง แต่สำหรับผู้ประกอบการหนทางเยียวยาสุขภาพโลกยังหมายถึงการชุบชีวิตสิ่งของเหลือใช้ให้กลับมามีคุณค่า เปลี่ยนขยะพลาสติกและวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นภาระเผาทำลายจนกลายเป็นต้นเหตุของมลพิษทางอากาศด้วยวิธีการหมุนกลับวัสดุเหล่านั้นให้สามารถนำมาใช้งานได้ใหม่อีกครั้งอย่างสร้างสรรค์และมีชีวิตชีวา

เปลี่ยนเศษขยะงานก่อสร้าง เป็นงานเทอร์ราซโซสุดเก๋
เพราะนี่ไม่ใช่ขยะพลาสติกที่เรามักเห็นตัวอย่างมากมายในการหยิบมารีไซเคิลหรืออัพไซเคิล ดังนั้นถ้าไม่ได้รู้จักกับ Okaeri Home Studio แล้วล่ะก็ แทบจะนึกภาพไม่ออกว่าเศษขยะที่หลงเหลือจากงานก่อสร้าง อย่าง เศษปูน หิน ทราย และเศษอิฐมอญ จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างไร

ปูนซีเมนต์ขาวเทอร์ราซโซ คือวัสดุสร้างสรรค์ที่ทางสตูดิโอได้รับแรงบันดาลใจมาจากหินขัด Terrazzo วัสดุตกแต่งสุดคลาสสิคของประเทศอิตาลีที่มีตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ซึ่งความแตกต่างคือ ในขณะที่หินขัดใช้เกล็ดหินแกรนิต เกล็ดหินอ่อน เปลือกหอย หรือกระจกเป็นส่วนผสมคู่กับซีเมนต์ขาวสำหรับหล่อขึ้นรูปแล้วขัดผิวหน้าให้เงางาม ด้าน Okaeri เลือกประยุกต์ใช้เศษขยะดังกล่าวเพื่อทำให้พวกมันกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งในเวอร์ชั่นที่สวยงามและน่าใช้งานเป็นอย่างยิ่ง

โดยไม่เพียงลวดลายน่ารัก เก๋ไก๋ หากเศษวัสดุก่อสร้างยังมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทาน นอกจากนี้วัสดุ ‘ปูนซีเมนต์ขาวเทอร์ราซโซ’ ของ Okaeri ยังโดดเด่นด้วยการออกแบบสีสันให้มีความหลากหลายด้วยการผสมเม็ดสีชนิดผง รวมถึงเคลือบด้วยสารเคลือบผิวชนิดทนน้ำและสามารถต่อยอดเป็นชิ้นงาน 3 มิติ จึงเหมาะสำหรับการนำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ แจกัน กระถาง หรืองานประดับตกแต่งต่าง ๆ ที่ใช้ได้สบายทั้งภายในและภายนอกอาคาร

พลาสติกรีไซเคิล จากไม่มีใครต้องการสู่วัสดุสารพัดประโยชน์
จุดเริ่มต้นของ BOPE สตาร์ตอัพเชียงใหม่ที่สร้างสรรค์งานดีไซน์จากขยะพลาสติกรีไซเคิล มาจากการทำธุรกิจรับซื้อขยะและมักเจอปัญหาพลาสติกปนเปื้อนซึ่งเป็นพลาสติกที่ไม่มีใครต้องการ วันหนึ่งพวกเขาจึงเกิดไอเดียอยากทดลองเพิ่มมูลค่าให้กับขยะไร้ค่าเหล่านี้ พลันลงมือออกแบบและพัฒนาเครื่องบีบอัดพลาสติก แล้วคัดขยะพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีน (PE : Polyethylene) พลาสติกโพลีโพพีลิน (PP : Polypropylene) เช่น ฝาขวดน้ำ ถังน้ำ และพลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE : Low density polyethylene) อย่าง ถุงพลาสติก มาทำความสะอาด แยกโทนสี ก่อนโม่ให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกละเอียด จากนั้นหลอมและฉีดลงแม่พิมพ์เครื่องบีบอัด 

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘พลาสติกรีไซเคิล’ สีสันฉูดฉาด ลวดลายแปลกตาที่เกิดจากการหลอมละลายไหลรวมกันของพลาสติกนานาชนิดทั้งสีขาว สีแดง สีเหลือง สีฟ้า สีดำ และสีเขียว ทำให้แต่ละชิ้นออกมาเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำใคร

โดยวัสดุพลาสติกรีไซเคิลของ BOPE นั้นมีให้เลือกหลากขนาด ตั้งแต่ 1.5 – 30 เซนติเมตร ทั้งยังสามารถแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้ได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นจานรองแก้ว กระเบื้องติดผนัง กระถางต้นไม้ ถาดวางของ เครื่องประดับ กระเป๋า หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ชิ้นใหญ่ ๆ อย่าง โต๊ะหรือเก้าอี้สตูลก็แข็งแรงเอาอยู่ ใช้สอยได้จริง และแน่นอนว่าตอบโจทย์อย่างยิ่งสำหรับผู้ชื่นชอบผลิตภัณฑ์แนวคิดดีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เรื่อง : คุณากร เมืองเดช