เส้นใยธรรมชาติบนเส้นทางร่วมสมัย
Technology & Innovation

เส้นใยธรรมชาติบนเส้นทางร่วมสมัย

  • 01 Dec 2023
  • 585

ด้วยคุณสมบัติเด่นไม่ว่าจะเป็นความเบาสบาย ไม่ระคายเคืองผิว ระบายอากาศได้ดี และมีความงามเฉพาะตัวที่ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับผืนผ้า เป็นส่วนหนึ่งทำให้ ‘เส้นใยธรรมชาติ’ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย 

กระนั้นก็ตามผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติมักมีจุดอ่อนในเรื่องของความแข็งแรงทนทานและต้องการการดูแลรักษามากกว่าเส้นใยสังเคราะห์ จึงมีเหล่านักสร้างสรรค์ผู้หลงใหลพยายามหาทางไปต่อให้กับวัสดุนี้ โดยหยิบเอานวัตกรรมและการออกแบบมาผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเพื่อยกระดับเส้นใยธรรมชาติให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่อย่างไฉไลและน่าชื่นชม

ใยกัญชงมุมมองใหม่ ดีต่อใจทั้งผู้ใช้และชุมชน
‘กัญชง’ จัดเป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับ ‘กัญชา’ ทว่ามีข้อแตกต่างกันตรงที่มีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท (Tetrahydrocannabinol: THC) ปริมาณน้อยมาก อีกทั้งเส้นใยของมันยังจัดเป็นวัสดุที่ชาวม้งนิยมนำมาใช้ประโยชน์ด้านหัตถกรรมสิ่งทอตามภูมิปัญญาดั้งเดิม

โดยเส้นใยกัญชงแต่ละเส้นที่ได้จากการดึงเส้นใยเปลือกไม้ของต้นกัญชงนั้นจะมีความหนาไม่สม่ำเสมอเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัสดุ ซึ่งเกิดจากการที่ทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ ตัด ตาก ลอกเปลือก ดึงเส้นใย ไปจนถึงมัดต่อเป็นม้วน ล้วนทำด้วยมือเส้นต่อเส้น เมื่อนำมาทอเป็นผืนจึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเส้นใย พื้นผิวอาจไม่เรียบเนียนเท่าผ้าฝ้าย แต่ระบายอากาศได้ดีและโปร่งโล่ง ตอบโจทย์สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกาย

สาธุ (Satu) คือแบรนด์เสื้อผ้าจากชุมชนดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ที่หยิบเอาคุณสมบัติของเส้นใยกัญชงมาต่อยอด เพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยการผสานงานออกแบบแพตเทิร์นที่มีเอกลักษณ์สะดุดตาไม่เหมือนใคร เข้ากับสามภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น ทั้ง ชาวม้งที่เป็นต้นทางของผ้าใยกัญชงและผู้แต่งแต้มลวดลายสวยงามบนเสื้อผ้าด้วยศิลปะการเขียนเทียน กะเหรี่ยงโพล่งผู้ทำหน้าที่ทอฝ้าย และการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้และแก่นไม้ฝีมือชาวปกาเกอะญอ

แน่นอนว่า ทุกกระบวนการผลิตทำมือด้วยความพิถีพิถันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ ผ้าใยกัญชงยังมีเหนียวทนทาน ดูแลรักษาง่าย และนุ่มขึ้นทุกครั้งที่ซัก จึงเหมาะสร้างสรรค์เป็นของใช้ได้อีกสารพัด เช่น ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ผ้ารองจาน ฯลฯ

ผ้าฝ้ายคอลลาเจน นวัตกรรมสารสกัดยกระดับสิ่งทอไทย
ชาวเหนือคุ้นเคยกับการสวมใส่และใช้ประโยชน์จากผ้าฝ้ายมาเป็นเวลาช้านาน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการปลูกต้นฝ้ายเพื่อเก็บดอกมาถักทอและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน แหล่งผลิตผ้าฝ้ายพื้นเมืองแหล่งใหญ่ที่ยังคงสืบสานรักษาภูมิปัญญาหัตถกรรมสิ่งทอจากฝ้ายและย้อมสีธรรมชาติด้วยเปลือกไม้และใบไม้ในท้องถิ่น พร้อมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ของฝากเลื่องชื่อซึ่งช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น LET: Lamphun Eco Textile แบรนด์ซึ่งเกิดจากรวมตัวกันของกลุ่มคลัสเตอร์ผ้าทอ ECO ภายในจังหวัด ยังได้ลุกขึ้นมาร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาด้วยการสร้างสรรค์    ‘ผ้าฝ้ายคอลลาเจน’ ที่ผลิตด้วยเทคนิคพิเศษผสานระหว่างเส้นใย FILAGEN® จากประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นนวัตกรรรมเส้นใยธรรมชาติสังเคราะห์ผสมสารสกัดคอลลาเจนจากปลาทะเลน้ำลึกและพืชกับเส้นฝ้ายพื้นเมือง 

โดยนวัตกรรมดังกล่าวช่วยเสริมคุณสมบัติของผ้าฝ้ายที่สวมใส่สบายและระบายอากาศได้ดีให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถในการรักษาความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ กำจัดกลิ่นอับและกลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมถึงป้องกันรังสี UV สูงสุดถึง SPF50 เหนืออื่นใดคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้สวมใส่เพราะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100% นับเป็นอีกตัวอย่างวัสดุสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการยกระดับหัตถกรรมสิ่งทอไทยให้ไปไกลกว่าเดิม 

เรื่อง : คุณากร เมืองเดช