ส่องลวดลายที่โลดแล่นบน “เบาะรถสาธารณะ” เพราะเบื้องหลังลายผ้ามีที่มามากกว่าที่คิด
Technology & Innovation

ส่องลวดลายที่โลดแล่นบน “เบาะรถสาธารณะ” เพราะเบื้องหลังลายผ้ามีที่มามากกว่าที่คิด

  • 04 Jan 2024
  • 855

หากใครเคยโดยสารรถสาธารณะไม่ว่าจะเป็น BRT หรือรถทัวร์ ก็คงไม่วายที่จะต้องเคยเห็นลวดลายยุ่งเหยิงของเบาะรถที่บ้างก็ดึงดูดใจ บ้างก็สับสนชวนปวดหัว และบางคนก็ถึงกับยี้ให้ลวดลายที่ดูแสนเชย 

แต่เชื่อหรือไม่ว่า แพตเทิร์นลวดลายยึกยือที่เห็นได้ในรถประจำทางทั่วไปนี้สามารถเห็นได้ทั่วโลก ทั้งบางทีหากได้ลองสัมผัสยังอาจพบว่า เบาะแต่ละที่ต่างก็มีเนื้อสัมผัสที่แทบไม่ต่างกันเลยด้วยซ้ำ นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อทุกรายละเอียดในความเหมือนอาจมีบทบาทเบื้องหลังที่น่าสนใจ และสำคัญไม่แพ้องค์ประกอบอื่น ๆ บนรถเลย

เรื่องเบาะที่ไม่ใช่แค่เรื่องเบาะ ๆ
เพราะเบาะนั่งคือหนึ่งในองค์ประกอบที่ใกล้ชิดกับผู้โดยสารที่สุด รถสาธารณะจึงใส่ใจพัฒนาตัวเบาะให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอยู่เสมอ ในยุคเริ่มแรกนั้น ที่นั่งของรถบัสยังเป็นเพียงไม้แข็ง ๆ ไม่มีเบาะรองนั่ง สร้างความรู้สึกไม่ค่อยสะดวกสบาย โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไกล ดังนี้เองบริษัทรถบัสจึงเริ่มที่จะทดลองการหุ้มเบาะเพื่อเสริมประสบการณ์ดี ๆ ให้ทุกการเดินทาง และมีการปรับเปลี่ยนทั้งวัสดุและลวดลายเรื่อยมาตามคำติชมของผู้โดยสาร รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วย 


Markus Winkler / Unsplash

“Moquette” วัสดุทำเบาะที่บัสหลายคันเลือกใช้
ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 รถบัสเริ่มทดลองปรับเปลี่ยนวัสดุหุ้มเบาะแบบต่าง ๆ เช่น การใช้ไวนิลแทนผ้า ซึ่งมีข้อดีในเรื่องของการทำความสะอาด แต่กลับมีเสียงสะท้อนจากผู้โดยสารจำนวนมากว่ามันร้อนสุดขีดในฤดูร้อน และหนาวสุดขั้วในฤดูหนาว จนสุดท้ายบริษัทก็เลือกที่จะหันกลับมาใช้ผ้าที่ให้ความรู้สึกสบายมากขึ้น โดยตัวผ้านั้นจะต้องผ่านเกณฑ์การใช้งานต่าง ๆ เช่น ควรเป็นผ้าที่ป้องกันการลามในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ มีความทนทาน และระบายอากาศได้ดี เป็นต้น

และ “ผ้า Moqutte” (ที่แปลว่า ‘พรม’ ในภาษาฝรั่งเศส) ก็เข้ามาตอบโจทย์นั้น Moqutte คือวัสดุรองนั่งที่ถักทอมาจากขนสัตว์ 85% ผสมกับไนลอน 15% โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในระบบขนส่งสาธารณะของลอนดอนมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 ด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่าผ้าแบบอื่น ๆ กล่าวคือ ผ้าชนิดนี้มีความทนทานสูง ทั้งยังราคาไม่แพง และสามารถพิมพ์สีพิมพ์ลายได้ตามชอบ ทำให้กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการที่จะใช้ในระบบขนส่ง ร่วมด้วยการถักทอที่ช่วยกลบสิ่งสกปรกให้อยู่ข้างในและไม่ทิ้งร่องรอยไว้บนผิวภายนอก ทั้งยังสามารถระบายอากาศได้ดีเมื่อเทียบกับหนังหรือไวนิล ช่วยลดความรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับที่นั่งโดยตรงได้ 

ตัวผ้ายังมีคุณสมบัติที่ป้องกันการลามของไฟในกรณีที่เกิดเหตุอัคคีภัย ทั้งยังแห้งง่ายเมื่อมีน้ำหกใส่ เนื่องจากน้ำจะไม่ซึมลงไปข้างใน แต่จะกระจายเป็นวงกว้างบนพื้นผิวด้านนอกสุดของเส้นใย ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำหกอย่างไม่ตั้งใจก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียที่นั่งเพราะมันเปียกไปตลอดทั้งวัน


dracom / Flickr

ลวดลายแสนพิศวง กับบทบาทน่าพิสมัย
ในส่วนของลวดลายแปลก ๆ ที่ดูลายตา ก็ไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าตัววัสดุเลย เพราะมันไม่ใช่แค่ผลิตออกมาเพื่อดึงดูดสายตาของผู้ใช้เท่านั้น หากแต่มันยังทำหน้าที่หลอกตาผู้โดยสาร ไม่ให้เห็นคราบ รอยเปื้อน หรือร่องรอยการสึกหรอ ให้ทุกที่นั่งดูเป็นที่นั่งใหม่และสะอาด (แม้ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น) พร้อมต้อนรับผู้โดยสารที่ขึ้นลงเป็นพันคนทุกวัน โดยไม่ต้องดูแลรักษาให้มากความ

และไม่ใช่ว่าลายยุ่งเหยิงไหน ๆ ก็จับมาทำเบาะได้เสียหมด ในปี 2019 CityLab ได้สอบถามชาวทวิตเตี้ยน (หรือ X ในปัจจุบัน) เกี่ยวกับผ้าหุ้มเบาะรองนั่งที่แต่ละคนชื่นชอบจากทั่วทุกมุมโลก และได้นำคำตอบเหล่านั้นมาวิเคราะห์เกณฑ์สำคัญที่ต้องคำนึงในการจะสร้างผ้าหุ้มเบาะที่ดี ออกมาเป็นข้อสรุป 4 ประการ ได้แก่

  1. การจดจำได้ ที่เกิดจากความโดดเด่นและสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น

  2. ความสดใหม่ ด้วยการใช้ผ้าที่มีสีสว่างในทางที่จะทำให้ตัวเบาะดูสดใสตลอดแม้จะผ่านการใช้งานมาหลายปี แต่ก็ไม่ซีดจนทำให้เกิดคราบหรือเห็นรอยจางได้ชัด

  3. ความสลับซับซ้อน เนื่องจากพื้นที่โล่งสีเดียว อาจทำให้เห็นร่องรอยสึกหรอได้เร็วขึ้น ทั้งยังดึงดูดใจให้พวกมือบอนจ้องจะขีดเขียน ทำให้ลวดลายซับซ้อนดูมีประสิทธิภาพในการป้องกันสิ่งเหล่านี้มากกว่า

  4. ความไม่ลายตา ให้ทุกอย่างอยู่บนความพอดีที่จะไม่ทำให้ใครต้องเวียนหัว ลายตา หรือปั่นป่วนเกินไป

ออกแบบแทบตาย สุดท้ายคนเขาว่าน่าเกลียด ☹
ท่ามกลางการแบ่งปันลวดลายของเบาะสาธารณะที่คนชื่นชอบกันอย่างครึกครื้น สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง กลับมองว่าตัวลวดลายของเบาะดูท่าจะไม่น่าอภิรมย์เท่าไร ถึงขั้นที่พูดว่ามัน “น่าเกลียด” เลยด้วยซ้ำ ก่อให้เกิดเป็นคำถามในบทความของ BBC ที่ว่า “ทำไมผ้าหุ้มเบาะรถไฟถึงน่าเกลียด” และได้คำตอบออกมาเป็นข้อจำกัด 3 อย่างหลัก 

ประการแรกคือเรื่องของ “การใช้งาน” ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าลวดลายแต่ละแบบนั้นต่างก็มีหน้าที่ที่นอกเหนือจากความสวยงาม แต่ยังต้องปกปิดคราบความสกปรกได้ตลอดอายุการใช้งานหลายปี ทำให้ลวดลายและสีสันของมันอาจจะถูกจำกัดด้วยข้อคำนึงนี้เป็นหลัก

ขณะที่ในมิติของ “กระบวนการทำงาน” ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้รูปแบบไฟนอลของลวดลายอาจจะไม่ได้ตรงใจใครทั้งหมด เพราะการตัดสินใจเคาะลายหนึ่งลายใดให้เป็นลวดลายที่ใช้จริง ไม่ได้เป็นของดีไซเนอร์หรือทีมออกแบบผู้เดียว แต่ยังขึ้นกับผู้ว่าจ้าง ตัวแทนจากฝ่ายดำเนินงานแต่ละฝ่าย รวมถึงฝ่ายผลิตที่จะต้องดูความเป็นไปได้ ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้ลวดลายที่ถูกใจต้องถูกพับเก็บไปอย่างน่าเสียดาย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ “กระแสของแฟชั่น” ที่มาและหายไปในเวลาเพียงไม่นาน ซึ่งอาจทำให้ลวดลายที่ออกแบบมาเป็นที่ถูกตาต้องใจในสมัยหนึ่ง แต่ก็กลับกลายเป็นล้าสมัยเมื่อเวลาผ่านไปโดยปริยาย ทั้งนี้เรื่องของความชอบยังเป็นเรื่องของปัจเจก ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีสิ่งไหนเลยที่จะถูกใจทุกคนได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ลายนี้มีที่มา
ในบรรดาลายที่โลดแล่นอยู่บนรถสาธารณะทั่วโลก อาจมีบางลายที่มีเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบที่น่าสนใจมากกว่าลายอื่น ๆ ทั้งในแง่มุมที่สอดแทรกวัฒนธรรม หรือต้องการสื่อสารข้อความบางอย่างให้แก่ผู้ใช้ แพตเทิร์นหลายแบบเกิดมาจากลวดลายดั้งเดิมที่มีอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างเช่น เบาะนั่งบนรถที่เมืองครัสโนยาสค์ (Krasnoyarsk) ในไซบีเรีย ที่มีแพตเทิร์นแสนคุ้นเคยจากผ้าแขวนผนังดั้งเดิมของชาวรัสเซีย หรือบนเมโทรบัสของอิสตันบลู ที่ใช้ลวดลายของดอกทิวลิปแบบดั้งเดิมสีทองตัดกับพื้นหลังที่เป็นสีน้ำเงิน ทำให้ยิ่งดูโดดเด่นยิ่งขึ้น


Robot8A / Wikimedia Commons

ขณะที่ลายอีกหลายลายก็ได้แรงบันดาลใจที่อ้างอิงถึงองค์ประกอบสำคัญหรือแลนด์มาร์กที่ซ่อนอยู่ในเมืองนั้น ๆ อย่างเบาะของรถบัสในบาร์เซโลนาที่แม้ดูเผิน ๆ จะเป็นเพียงเบาะสีแดงที่พิมพ์ลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้เป็นบล็อกแล้วมีเส้นพาดผ่าน แต่ถ้าหากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเมืองนี้ ก็คงจะบอกได้ไม่ยากเลยว่า เจ้าลายตารางที่เห็นสื่อสะท้อนย่าน Eixample ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในย่านที่ผังเมืองดีที่สุดในโลก ส่วนเส้นที่พาดผ่านไปนั้นก็หมายถึงถนนหลวง Avinguda Diagonal ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญของเมืองนั่นเอง 

เช่นเดียวกับเมโทรบัสในเมืองปาโดวา (Padua) ที่มีเบาะรองนั่งเป็นรูปดาวสีขาวตัดกับพื้นหลังสีน้ำเงินเข้ม อ้างอิงไปถึงภาพจิตรกรรมบนเพดานในโบสถ์ Scrovegni (Scrovegni Chapel) ที่แต่งแต้มด้วยฝีมือของจิตรกรชื่อดัง คือ จอตโต ดี บอนโดเน (Giotto di Bondone) และลาย “Barman” จากลอนดอนที่ซ่อนสถานที่สำคัญไว้หลายแห่ง ทั้งมหาวิหารเซนต์พอล ลอนดอนอาย และหอนาฬิกาบิ๊กเบน ซึ่งความละเอียดอ่อนในรายละเอียดเหล่านี้ บางครั้งก็อาจจะมีแต่คนท้องถิ่นที่มองเห็นและอมยิ้มไปกับมันเท่านั้น

ภาพพิมพ์บนเบาะรองนั่งบางภาพ ยังมีบทบาทที่มากกว่าความสวยงามและการป้องกันรอย แต่ยังใช้เพื่อการสื่อสารโดยตรงถึงผู้ใช้บริการด้วย ที่นั่งสำรองพิเศษบนรถไฟของบริษัท Scotrail ในสก็อตแลนด์ พิมพ์ลายสีสันสดใสลงบนพื้นหลังสีดำที่ช่วยขับเน้นให้เห็นลวดลายนั้น โดยตัวภาพพิมพ์แสดงรูปคนหลากหลายรูปแบบที่เป็นที่เข้าใจว่าต้องการที่นั่งดังกล่าวมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่ที่มากับเด็กเล็ก คนท้อง คนชรา รวมถึงคนป่วยที่เข้าเฝือกที่ขา ให้สารนี้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันแบบที่ไม่ต้องมีอุปสรรคทางภาษามาเกี่ยวข้อง

ในปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทขนส่งสาธารณะหลักของเบอร์ลินอย่าง Berliner Verkehrsbetriebe (BVG) ก็ได้เริ่มเปิดตัวแพตเทิร์นเบาะรองนั่งใหม่ภายใต้ชื่อ “Vielfalt” (Diversity) ที่แปลว่าความหลากหลายให้ได้ยลโฉมกัน โดยลวดลายดังกล่าวประกอบด้วยภาพเงาสีสันสดใสที่แตกต่างกันกว่า 80 รูปแบบ เพื่อแทนชาวเบอร์ลินทุกคนที่เดินทางกับ BVG ทุก ๆ วัน ด้วยข้อความที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนว่า “เรายินดีต้อนรับทุกคน” โดยไม่ได้คำนึงถึงเพศ อายุ รูปร่าง กายภาพ หรือภูมิหลังทางวัฒนธรรมใด ๆ พร้อมกับสโลแกน “เบอร์ลินเต็มไปด้วยสีสัน เบอร์ลินนั้นมีชีวิต และด้วย BVG เบอร์ลินจะเคลื่อนไหวอยู่เสมอ” 

“ทุกคนพูดถึงความหลากหลาย – เราขับเคลื่อนมัน!” คริสติน โวลเบิร์ก (Christine Wolburg) หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดกล่าว พร้อมทั้งเสริมว่าแพตเทิร์นใหม่นี้ส่งต่อข้อความถึงความหลากหลายและมีสีสันของชาวเบอร์ลิน ตัว BVG รวมถึงตัวเมืองเบอร์ลินเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ และนี่เป็นอีกวิถีทางแสดงความรักที่บริษัทมีให้กับผู้ร่วมเดินทางกว่าสองล้านคนที่เดินทางร่วมกันกับ BVG ทุกวัน นอกจากตัวลายที่เห็นความหลากหลายได้ด้วยตา บริษัทยังได้ออกแบบรูปอักษรเบรลล์จัดแสดงที่สถานี Alexanderplatz เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสลายผ้าที่เป็นภาพแทนของทุกคนอย่างแท้จริง 

แพตเทิร์นดังกล่าวนี้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกบนรถบัสสองชั้นในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2022 ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนเบาะของรถที่มีอยู่เดิม และตั้งแต่กลางปี 2023 เป็นต้นมา รถรุ่นใหม่ก็จะมาพร้อมดีไซน์ใหม่เลย หากถามว่าเจ้าลายดังกล่าวนี้จะถูกใช้งานไปจนถึงเมื่อไร ทางเว็บไซต์ก็ตอบว่า “จนกว่าทุกคนจะเข้าใจข้อความแห่งความหลากหลายและความรักของเรา”

เสพศิลป์บนงานเบาะทั่วโลกไปกับ “@idontgiveaseat”
ลวดลายของเบาะที่ออกแบบมาอย่างตั้งใจ อาจจะถูกใครต่อใครละเลยมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ใช่กับจูเลียน โปทาร์ต (Julien Potart) ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส เจ้าของอินสตาแกรมแอ็กเคานต์ @idontgiveaseat ที่รวบรวมลวดลายจากเบาะของขนส่งสาธารณะทั่วโลกตั้งแต่ปี 2015 เพื่อแสดงออกถึงความหลงใหลและความรักต่อผืนผ้าที่ตัวเขาได้พบเจอในระบบขนส่งสาธารณะ หลังจากที่ใช้เวลาอยู่บนพาหนะเหล่านั้นหลายชั่วโมงตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

“ผมสังเกตเห็นว่า ลวดลายบนเบาะแต่ละที่ต่างกันมาก ผมรักดีไซน์ สีสัน ดังนั้นผมเลยเริ่มสะสมมัน” โปทาร์ตว่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการสะสมความงดงามที่เขาสังเกตเห็นแล้ว ในอีกทางก็นับเป็นการแสดงความเคารพต่อทีมที่ออกแบบชิ้นงานเหล่านี้ด้วย 

โปทาร์ตยังได้เลือกขนส่งของโปแลนด์และญี่ปุ่นให้เป็นประเทศที่มีการออกแบบลายที่ให้ความบันเทิงมากที่สุด ต่างจากที่นั่งของฝั่งยุโรปที่มักจะเป็นแบบแอ็บสแตรกต์และเป็นสีเดียวกัน โดยหนึ่งในลายที่เขาชอบที่สุดอยู่ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรูปของผู้หญิงกับเด็ก และคนถือไม้เท้าอยู่บนพื้นหลังสีทราย ชี้ให้เห็นว่า นี่คือที่นั่งสำรองพิเศษ “ผมชอบมัน เพราะนอกจากมันจะดูดีแล้ว มันยังให้ข้อมูลด้วย” เขากล่าว 

ปัจจุบันนี้ @idontgiveaseat มีผู้ติดตามกว่า 13,700 คน ทั้งยังคงอัปเดตลวดลายของเบาะอยู่อย่างสม่ำเสมอ ตามคำสัมภาษณ์ที่เขาให้ไว้ในปี 2016 ว่าเขาจะยังคงถ่ายรูปเบาะต่อ ตราบใดที่เขายังใช้บริการขนส่งสาธารณะอยู่ โดยรูปต่าง ๆ จากเดิมที่เคยถ่ายเองแล้วลงเอง ก็เริ่มมีเพื่อน ๆ รวมถึงคนที่ไม่รู้จักที่ผ่านมาเห็น และเข้ามาติดตาม พร้อมส่งผลงานเบาะนั่งสวย ๆ มาให้เขาไม่เว้นแต่ละวัน “นั่นคือสิ่งที่ผมชอบ มันเป็นโปรเจ็กต์แห่งความร่วมมือ ผมทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ผมไม่สามารถรวบรวมแพตเทิร์นของที่นั่งทั่วโลก ผมจึงต้องขอความช่วยเหลือจากทุก ๆ คน” 


Waldemar / Unsplash

มุมมองที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย อาจสร้างการมองโลกที่เปลี่ยนไปตลอดกาล เช่นเดียวกับเรื่องราวความสวยงามของเบาะที่ใครหลายคนเคยละเลย แต่ถ้าหากอ่านมาถึงจุดนี้ เจ้าเบาะที่แสนจะธรรมดาอาจจะสะดุดตากว่าที่เคยเป็น หากวันใดเบื่อหน่ายกับการจราจรที่แสนแออัด ลองให้โอกาสลวดลายบนเบาะมาเป็นอีกจุดพักสายตาหนึ่ง ที่จะช่วยให้ทุกคนเพลิดเพลินไปกับการเดินทางที่แสนยาวนานนี้ดูสักครั้ง เผื่อว่าคุณอาจจะหลงรักมันเข้าให้ก็ได้ 

ที่มา : บทความ “Why Do Bus Seats Have Weird Patterns?” โดย Prashant Lunawat 
บทความ “A history of moquette” จาก ltmuseum.co.uk
บทความ “The Real Reason Why The Seats of Bus Have Those Dodgy Patterns” จาก segeseats.com.au
บทความ “Why is Bus and Train Upholstery So Ugly?” โดย Nadeem Muaddi 
บทความ “The Good, Bad, and Ugly Public Transit Seat Covers of the World” โดย Feargus O'Sullivan 
บทความ “The Grim Reason Buses And Trains Use Such Weird Fabrics On Seats” โดย Rachael Funnell 
บทความ “BVG Berlin presents fashion in new seat cushion design” จาก urban-transport-magazine.com 
บทความ “VARIETY. BVG HAS INTRODUCED A NEW PATTERN FOR THEIR SEATS” จาก urban-transport- ndion.de 
บทความ “A pattern of your diversity. A sign of our love.” จาก bvg.de
บทความ “A Totally Objective Ranking of TFL Seat Designs” โดย Robin Wilde 
บทความ “Thanks to This French Instagram Account, Public Seating Has Never Looked So Pretty” โดย Liana Satenstein 
บทความ “This Instagram Account Captures Public Transport Seats Around The World” โดย Marine Chassagnon
อินสตาแกรม https://www.instagram.com/idontgiveaseat/

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง