“Robotaxi” เปลี่ยนการเดินทางแบบเดิม ๆ ด้วยเทคโนโลยีไร้คนขับ
Technology & Innovation

“Robotaxi” เปลี่ยนการเดินทางแบบเดิม ๆ ด้วยเทคโนโลยีไร้คนขับ

  • 05 Jan 2024
  • 257

ในการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีนั้นมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของเราอย่างมากตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเวลาเข้านอนอีกครั้ง 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการขนส่งสาธารณะจึงนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ใกล้ตัว เพราะใช่ว่าเราทุกคนจะมีพาหนะส่วนตัว และในหลาย ๆ ประเทศ ประชากรยังจำเป็นต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะในชีวิตประจำวัน ทำให้มีผู้ใช้ขนส่งสาธารณะจำนวนมาก ซึ่งมาพร้อมกับทางเลือกใหม่ ๆ ในการใช้บริการที่ถูกพัฒนาไปอย่างกว้างขวางและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

“Robotaxi” หรือ “แท็กซี่ไร้คนขับ” ถือเป็นอีกหนึ่งพาหนะโดยสารสาธารณะที่มีการพัฒนาโดยเทคโนโลยีที่เป็นที่น่าจับตามองและผู้คนกำลังให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ด้วยความที่เป็นยานพาหนะเคลื่อนที่อัตโนมัติ จึงทำให้สะดวกและง่ายต่อการเดินทาง ช่วยแบ่งเบาภาระได้ดี และช่วยเปลี่ยนความรู้สึกในการเดินทางแบบเดิม ๆ ให้เป็นการเดินทางรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม รถประเภทนี้สามารถขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ถูกบังคับด้วยมนุษย์ ทำให้ผู้ใช้รถโดยสารบางรายยังคงไม่มีความมั่นใจที่จะใช้บริการ Robotaxi อยู่


Hyundai Motor Group / Unsplash

การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี
ว่าด้วยเรื่องยานพาหนะเคลื่อนที่อัตโนมัติ แรกเริ่มบริษัทดังอย่าง Tesla เป็นบริษัทแรก ๆ ที่ได้เริ่มพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ โดยเป็นความคิดของ อีลอน มัสก์ ที่อยากจะพัฒนาการขับเคลื่อนอัตโนมัติให้สำเร็จ จนต่อมา ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปพัฒนาต่อ จนกลายเป็น Robotaxi หรือแท็กซี่ไร้คนขับ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในรัฐซานฟรานซิสโกที่เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี ซึ่ง Robotaxi ถือเป็นรถสาธารณะที่ได้รับความสนใจอย่างมากในต่างประเทศ และเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตในปัจจุบันโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและจีน โดยทั้ง 2 ประเทศได้มีการพัฒนาและมีการทดสอบการใช้งานจริงของรถ ก่อนที่จะนำไปใช้จริงบนท้องถนน ทำให้ปัจจุบันได้มีแบรนด์แท็กซี่ไร้คนขับมากมายให้ประชาชนได้เลือกใช้บริการ

เบื้องหลังความเจ๋งของตัวรถ Robotaxi นั้น มีกลไกการทำงานที่ใช้โมเดลแมชชีนเลิร์นนิงและระบบเอไอขั้นสูงในการประมวลผลข้อมูล อย่างการใช้เซ็นเซอร์ขั้นสูงที่ชื่อว่า “อาร์เรย์เซ็นเซอร์” โดยตัวเซ็นเซอร์ประกอบไปด้วย เรดาร์ ไลดาร์  (LiDAR) กล้องพร้อมไมโครโฟน ลำโพง เสาอากาศวิทยุ และเครื่องส่ง GPS ที่สามารถตรวจจับรอบ ๆ พื้นที่ขณะรถเคลื่อนตัวได้อย่างดีเยี่ยมและแม่นยำ โดยมีเซ็นเซอร์ LiDAR หรือ Light detection and ranging ที่ใช้แสงเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุหลายตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำทาง ประมวลผลข้อมูล และโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมได้แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารไม่ต้องกังวลว่ารถจะพาออกนอกเส้นทางนั่นเอง

โดยการเรียกใช้บริการ Robotaxi นั้น ก็แค่เพียงเรียกผ่านทางแอปพลิเคชัน Apollo Go หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ประเทศ เมื่อรถมาถึงแล้ว ผู้โดยสารจึงทำการสแกนรหัสเพื่อยืนยันตัวตน ก่อนขึ้นโดยสาร พร้อมกดปุ่มเริ่มต้นให้รถเคลื่อนตัวเดินทางได้นั่นเอง


cottonbro studio / Pexels

Robotaxi ปลอดภัยจริงหรือ
มุมมองของผู้พัฒนามองว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้รถโดยสารไม่มากก็น้อย โดยประสิทธิภาพของ Robotaxi เป็นที่น่าสนใจในกลุ่มผู้ใช้รถสาธารณะที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระได้อย่างดีเยี่ยม รวมไปถึงช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากมนุษย์ อย่างการหลับในที่มักเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อย ๆ อีกทั้งยังช่วยลดความแออัดของการจราจรได้ 

โดยทางอเมริกาและจีนเองนั้น ก็ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของรถยนต์ไร้คนขับ อาทิ บริษัทดังอย่าง Cruise Waymo หรือ Baidu เป็นต้น โดยการให้รถวิ่งไปบนถนนกว่าหลายไมล์ ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัยสูง และไม่มีการเกิดอุบัติเหตุบนทางเท้าแม้แต่ครั้งเดียว แต่มีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างการชนกันเนื่องจากมีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่พบเห็นได้ในรถยนต์ที่มีมนุษย์ขับเช่นกัน โดย Cruise กล่าวว่า ในการทดลองใช้งาน มีการเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่ารถที่ขับโดยมนุษย์ถึง 53% ในช่วงล้านไมล์แรก และเหล่าผู้พัฒนาก็ได้เปิดเผยว่า อุบัติเหตุที่เกิดจาก Robotaxi ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บน้อยกว่ารถทั่วไปอีกด้วย

ก่อนที่ Robotaxi จะถูกนำมาใช้งานอย่างทุกวันนี้ ทางด้าน California Public Utilities Commission (CPUC) หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลในด้านสาธารณูปโภคก็ได้อนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ สามารถให้บริการแท็กซี่แบบไร้คนขับได้ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มสหภาพแรงงาน เพราะพวกเขามองว่า แท็กซี่ไร้คนขับจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาไม่มีงานทำได้

ภายใต้ความล้ำสมัย ก็ยังคงมีข้อบกพร่องไม่น้อย อย่างการหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่กลุ่มคนบางกลุ่มมองว่า รถดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำมาใช้งานบนถนนได้แม่นยำเท่ากับตาของมนุษย์ หรือการตัดสินใจต่อเหตุการณ์บนท้องถนนอย่างการที่มีรถขับย้อนศร ขับปาดหน้า หรือโดนจี้ท้ายที่อาจจะผิดพลาดได้ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการมีแท็กซี่ไร้คนขับไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่กลุ่มคนที่ทำอาชีพคนขับรถสาธารณะ รวมไปถึงพนักงานส่งอาหาร ก็ได้ออกมากล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างน่าเห็นใจ เพราะพวกเขาเองอาจจะตกงานและขาดรายได้ถ้าหาก Robotaxi ถูกนำมาใช้งานบนท้องถนนอย่างเต็มรูปแบบ ทางด้านตัวแทนของคนขับรถบรรทุกขยะเอง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะในขณะที่พวกเขากำลังทำงานก็มีเหล่า Robotaxi กีดขวางทางพวกเขา โดยเขากล่าวว่า เคยถูกกีดขวางถึง 55 ครั้งใน 1 ปี แม้กระทั่งกลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายเองก็มองว่า เขาจะขึ้นแท็กซี่ได้อย่างไรถ้าไม่มีคนช่วย ทำให้แนวคิดที่ว่ายานยนต์ไร้คนขับจะมีประโยชน์ต่อผู้พิการ อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน


Alexander Migl / Wikimedia Commons

ถ้าไทยมีแท็กซี่ไร้คนขับจะเป็นอย่างไร
ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีการจราจรติดขัดเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่แม้อาจจะมีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว แต่ก็เป็นเมืองรถติดมากอันดับต้น ๆ จนผู้โดยสารสามารถหลับได้หลายตื่นไม่ยังไม่ถึงที่หมาย แถมสภาพแวดล้อมของไทยก็ไม่เอื้ออำนวยกับความเป็นไปได้ของแท็กซี่ไร้คนขับ อย่างสภาพการณ์รถติด ก็ถือเป็นการตัดโอกาสแล้ว เนื่องจากตัว AI ของ Robotaxi จะเคลื่อนตัวได้ก็ต่อเมื่อถนนโล่งในระดับหนึ่ง จึงไม่เหมาะกับการจราจรที่แน่นแออัดอย่างในประเทศไทย แต่ในแง่มุมหนึ่ง ก็อาจจะมีโอกาสที่เป็นไปได้บ้างแต่ก็คงน้อยมากพอสมควร เพราะอย่างที่รู้กันว่าถนนหนทางของประเทศไทยมีสภาพชำรุดค่อนข้างมาก ต่อให้มีเทคโนโลยีที่ล้ำยุคแต่ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้เช่นกัน และที่เห็นกันอยู่บ่อยครั้งก็คือ การขับขี่บนท้องถนนที่ขาดวินัยและไม่เคารพกฎจราจรซึ่งมีให้เห็นอยู่หลายรูปแบบ ทั้งขับแซงไม่สนเลนบ้าง ขับขี่ย้อนศรบ้าง ผ่าไฟแดงบ้าง บวกกับผังเมืองของเราที่ยังไม่ค่อยเป็นระเบียบนัก และอาจส่งผลทำให้เรดาร์ของระบบไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในไทยที่สามารถใช้งานได้เลยก็ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ อย่างบนทางด่วน มอเตอร์เวย์ หรือนำไปใช้เพื่อบริการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ในระยะใกล้ ๆ ได้ แต่นอกเหนือจากความไม่เหมาะสมของพื้นที่ที่ทำให้ไม่สามารถมีแท็กซี่ไร้คนขับได้อย่างสมบูรณ์ อีกสาเหตุหนึ่งก็คงไม่พ้นเรื่องของ “ราคา” ที่ยังค่อนข้างสูง จึงเป็นไปได้ยากที่บุคคลทั่วไปจะนำแท็กซี่ไร้คนขับเข้ามา หรือถึงจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่ก็ยังต้องยอมรับว่า สิ่งที่ตามมาจะเป็นผลกระทบที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกสบาย อย่างนวัตกรรมแท็กซี่ไร้คนขับที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันพอสมควร ทั้งนี้ เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล เพราะความผิดพลาดของเทคโนโลยีนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาต่อไปเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และผลกระทบของผู้ที่ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องก็ยังคงรอการแก้ไข เพื่อให้มนุษย์และเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหานั่นเอง

ที่มา : บทความ “Tesla จะทำ ‘แท็กซี่ไร้คนขับ’ ไม่มีพวงมาลัย ไม่ต้องใช้คันเร่ง คาดอีก 2 ปีได้ใช้งาน” โดย Kanokwan Makmek
บทความ “How robotaxis are dividing San Francisco” โดย James Clayton
บทความ “เป็นไปได้หรือไม่? ธุรกิจแท็กซี่ไร้คนขับจะเกิดขึ้นในไทย” โดย bangkokbanksme.com
บทความ “ซานฟรานซิสโกเตรียมนำร่องให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และเวลาให้บริการ” โดย สกุลชัย เก่งอนันตานนท์
บทความ “Would You Trust a Robotaxi?” จาก global-imi.com
บทความ “Robotaxis are here. It’s time to decide what to do about them” โดย Benjamin Schneider
บทความ “Robo-Taxi Takeover’ Hits Speed Bumps” โดย Lauren Leffer

เรื่อง : รัชฎาพรวรรณ มุ่งหมาย