“Thai Train - ไทยทำ” อุตสาหกรรมระบบรางสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
Technology & Innovation

“Thai Train - ไทยทำ” อุตสาหกรรมระบบรางสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

  • 11 Jan 2024
  • 296

ปูนปู๊นนน..ฉึกฉัก ฉึกฉัก.. เมื่อเสียงของยานพาหนะที่เคลื่อนที่ไปตามรางมาถึงสถานี นั่นเป็นสัญญาณของการเดินทางที่กำลังจะได้เริ่มต้นขึ้น…

ถ้าหากถามหาระบบคมนาคมที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน “รถไฟ” ก็เป็นอีกหนึ่งยานพาหนะที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังคงความคลาสสิกในตัวเอง เพราะอยู่กับคนไทยมานานกว่าหลายร้อยปีนับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอาจเรียกได้ว่าเป็น “เพื่อนคู่ใจยามเดินทาง” ของคนไทยเลยก็ว่าได้ เพราะมีราคาที่ค่อนข้างถูก บวกกับได้นั่งชมทัศนียภาพของสถานที่ต่าง ๆ ทั้งยังมีความตรงเวลาและปลอดภัย จึงสามารถใช้ทั้งเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันและเพื่อความผ่อนคลาย ทำให้จนถึงปัจจุบันนี้ รถไฟก็ยังคงเป็นระบบขนส่งมวลชนที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รถไฟต้องได้รับการพัฒนาให้เท่าทันกับทั้งความต้องการของผู้โดยสารและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเช่นกัน เพื่อให้รถไฟเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุตสาหกรรมระบบรางที่จะเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า


Natasha Ommundson / Unsplash

แรกเริ่มเดิมทีรถไฟไทย
ย้อนกลับไปช่วง 300 ปีก่อน ที่มีรถไฟเกิดขึ้นครั้งแรก ณ ประเทศอังกฤษ ในตอนนั้นรถไฟเป็นเพียงล้อเกวียนเล็ก ๆ ที่ลากโดยม้าและใช้บรรทุกถ่านหินเท่านั้น ต่อมาในปีค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) จอร์จ สตีเฟนสัน (George Stephenson) จึงได้พัฒนามาเป็นรถจักรไอน้ำที่ชื่อว่า ‘ร็อกเก็ต’ (Rocket) ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้เองโดยไม่ต้องใช้ม้าลากอีกแล้ว ทำให้การประดิษฐ์รถไฟประสบความสำเร็จ และจอร์จ สตีเฟนสัน ก็ได้ถูกขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งรถไฟตั้งแต่นั้นมา 

กลับมายังประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม เพราะทรงเล็งเห็นความสำคัญของการคมนาคมที่จะทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง โดยก่อนหน้านี้ ประเทศไทยใช้สัตว์ลากเกวียนเป็นยานพาหนะในการขนส่งสินค้า มีทางเกวียนและลำคลองเป็นช่องทางในการลำเลียงขนส่ง รถไฟจึงเป็นการคมนาคมที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาพัฒนาต่อไป และได้รับความนิยมในการใช้งานอย่างมาก

ตราบจนก้าวสู่ยุคสมัยใหม่อย่างในวันนี้ รถไฟได้กลายเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่อาจถูกมองข้ามไป จากเดิมที่ผู้คนต่างใช้รถไฟเป็นศูนย์กลางในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ บรรดาสถานีรถไฟต่างก็คึกคักและคับคั่งไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งเสียงประกาศ พ่อค้าแม่ขายที่จับจองพื้นที่ทั้งในสถานีและบนขบวนรถไฟ ไปจนถึงมวลความเคลื่อนไหวและความสุขของเหล่าผู้โดยสารจำนวนมากในแต่ละวัน สู่วันนี้ที่ผู้คนต่างมองหาความสะดวกรวดเร็วที่มากกว่าจากทางเลือกในการเดินทางใหม่ ๆ ที่มีให้เลือกมากกว่าเดิม ทำให้คนที่เดินทางด้วยรถไฟลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย แต่สิ่งที่ยังคงอยู่นั่นก็คือความอบอุ่นและบรรยากาศสุดคลาสสิกที่เห็นกี่ครั้งก็เหมือนได้ย้อนกลับไปยังวันวาน

ประเด็นเรื่องของการชุบชีวิตรถไฟไทยจึงเป็นจุดที่นำไปเชื่อมโยงกับนโยบาย “Thai first” หรือนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในอนาคต


Noppadon Manadee / Unsplash

ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน
เทคโนโลยีอุตสาหกรรมระบบรางเป็นระบบคมนาคมที่ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนอะไรก็ตามที่จะเกิดผลดีต่อประเทศ หรือเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนในด้านของการเดินทาง ในขณะเดียวกันนโยบาย “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Thai first” ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเป็นตัวช่วยให้สิ่งที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยได้ถูกนำมาปัดฝุ่นพัฒนาใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานานย่ำอยู่กับที่และสามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้ ซึ่งทางเลือกที่จะเป็นผลดีที่มากที่สุดก็คือการหยิบเอาสิ่งเก่ามาพัฒนาให้ดีกว่าเดิม และสิ่งที่จะนำมาพัฒนาเพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยที่ว่านั้นก็คือ ‘รถไฟ’ นั่นเอง

แนวคิดที่จะผลักดันเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมระบบรางเป็นความคิดของอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ที่ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอีก 15 หน่วยงาน ซึ่งได้เล็งเห็นว่าควรใช้ทรัพยากรภายในประเทศ (Local Content) ไปกับการพัฒนา เพราะก่อนหน้านี้ไทยได้ใช้สินค้าหรือส่วนประกอบรถไฟนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ อาทิ เครื่องยึดเหนี่ยวราง หรือหมอนรองรางรถไฟ ซึ่งข้อเสียคือต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยแนวทางหลัก ๆ ของนโยบายนี้ คือการซื้อตู้รถไฟหรือผลิตชิ้นส่วนของระบบตัวรถ ระบบช่วงล่าง ระบบขับเคลื่อน และระบบควบคุมจากผู้ผลิตภายในประเทศเท่านั้น มากไปกว่านั้น ด้านการพัฒนา ‘รถไฟทางคู่’ ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการไปไม่กี่ปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันได้เสร็จไปบ้างแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป้าหมายของโครงการสร้างรถไฟทางคู่ก็เพื่อได้ให้การคมนาคมทางรถไฟที่เข้าถึงชุมชนซึ่งก่อนหน้านี้รถไฟยังเข้าไม่ถึงในบางพื้นที่ รวมไปถึงการเล็งเห็นความสำคัญของการเดินทางของประชาชนให้ได้รับการพัฒนาได้สำเร็จ


Benjamin / Unsplash

เปลี่ยนแปลง พัฒนา ไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม
จากนโยบายข้างต้น เป็นจุดที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทำให้อุตสาหกรรมระบบรางหรือรถไฟไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งชื่อก็บ่งบอกชัดเจนแล้วว่า ‘ระบบราง’ ดังนั้นสิ่งที่พัฒนาเป็นอันดับแรกนั่นก็คือ ‘รางรถไฟ’ ที่จะใช้ส่วนประกอบภายในประเทศให้มากที่สุด เพราะโดยปกติแล้ว เราต้องใช้ส่วนประกอบนำเข้าสูงถึง 80% แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมา เราสามารถเปลี่ยนมาใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศได้ถึง 40% สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท โดยชิ้นส่วนที่จะใช้นั้น จะเป็นการนำเหล็กมาผลิตเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้กับระบบรางของรถไฟ อาทิ แผ่นรองราง เครื่องยึดเหนี่ยวราง และจะใช้ ‘ยางพารา’ เป็นวัตถุดิบในการผลิตราง เนื่องจากมีความเหนียวมากกว่าคอนกรีต จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นชิ้นส่วนของรางรถไฟเพื่อรองรับความแรงในการเคลื่อนที่ให้ปลอดภัยในระยะยาว

เช่นเดียวกับการแปลงโฉมรถไฟไทยไปสู่ “ความหรูหรา” ให้มากกว่าที่เคย ที่ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนซึ่งได้รับการพัฒนา โดยเป็นการออกแบบรถไฟให้มีความทันสมัย เพื่อลบภาพลักษณ์รถไฟแบบเก่า ๆ และให้ผู้โดยสารได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นว่าจะขึ้นแบบคลาสสิกดั้งเดิม หรือจะทดลองรับประสบการณ์ที่เป็นแบบหรูหราสะดวกสบายในราคาที่เอื้อมถึง จากการที่ตัวขบวนรถจะมีต้นแบบมาจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาส มีชั้น Super Luxury และชั้น Luxury ทั้งหมด 25 ที่นั่ง อีกทั้งยังมีบริการอาหารที่เสิร์ฟถึงที่และความบันเทิงต่าง ๆ ครบครัน พร้อมบริการห้องน้ำที่สะอาด และบรรยากาศที่เงียบสงบจากการที่ไม่มีเครื่องปั่นไฟในตัวรถ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ และความเร็วถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่มากกว่ารถไฟแบบเดิม ทำให้ถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยรถไฟโฉมใหม่นี้มีชื่อว่า “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนที่ชอบนั่งรถไฟชมวิวทิวทัศน์ข้างทาง แต่ก็ยังต้องการความสะดวกสบายที่ครบครัน ทั้งยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศและชาวต่างชาติ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นได้อีกด้วย


Pond Gotishatiankul / Unsplash

ต่อยอดสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ผลที่ได้รับจากการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง นอกจากจะทำให้ประหยัดงบได้มหาศาลจากการใช้ทรัพยากรในประเทศ ยังเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างคุ้มค่า และช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ผลักดันให้อาชีพที่เกี่ยวข้องได้แสดงศักยภาพเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ในภาพรวม เช่น งฝ่ายงานโยธา และซัพพลายเออร์ต่าง ๆ  รวมไปถึงเกษตรกรสวนยาง ที่นับเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพารา ยกระดับราคายาง พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนรายได้ของเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเพื่อนำมาใช้งานกับรถไฟ 

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานสากล ทั้งในแง่ของความทันสมัย ความสะดวกสบายที่มากกว่าเดิม และสนับสนุนสิ่งที่มีอยู่ภายในประเทศให้เกิดคุณค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด นั่นเอง

ที่มา : "รถไฟ" จาก wikimedia
บทความ “ประวัติการรถไฟแห่งประเทศไทย” จาก https://www.railway.co.th
ข่าว “นโยบายเสริมแกร่ง “Thai First” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” จาก https://www.matichon.co.th/
บทความ “Thai First ทางรอดอุตสาหกรรมเหล็กไทย” จาก https://www.thansettakij.com/
ข่าว “กรมรางฯขานรับนโยบาย Thai First ลุยสร้างมาตรฐานระบบราง โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ” จาก https://www.thaipost.net/
บทความ “กรมรางจับมือเอกชนเดินแผน Thai First ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ 40% สร้างมูลค่ากว่า 7 พันล้าน” จาก https://mgronline.com/

เรื่อง : รัชฎาพรวรรณ มุ่งหมาย