“WILD-ONe” แกะรอยต้นตอปัญหาและพัฒนาแนวทางแก้ไข “สัตว์ป่าบาดเจ็บ”
Technology & Innovation

“WILD-ONe” แกะรอยต้นตอปัญหาและพัฒนาแนวทางแก้ไข “สัตว์ป่าบาดเจ็บ”

  • 08 Feb 2024
  • 213

ในแต่ละปีจะมีสัตว์จำนวนมากหลายแสนตัวที่ถูกนำส่งมายังศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าทั่วสหรัฐอเมริกา เช่น กระรอกบาดเจ็บจากการถูกรถชน นกที่ปีกหักและร่วงตกลงมาที่สวนหลังบ้าน หรือสัตว์นานาชนิดที่หลงฝูงและก่อให้เกิดความเครียดจนตัวสั่นเทา 

เมื่อมีจำนวนสัตว์เข้ามาที่ศูนย์มากมายขนาดนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือ การจัดเก็บบันทึกข้อมูลของแต่ละกรณี จุดตั้งต้นเริ่มจากทางศูนย์ดูแลสัตว์ป่าแห่งรัฐเวอร์จิเนีย (Wildlife Center of Virginia) ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานจากภาครัฐและศูนย์ดูแลสัตว์ป่าอีกหลายรัฐ ก่อตั้งฐานข้อมูล “WILD-ONe" (Wildlife Incident Log/Database and Online Network) ขึ้นเมื่อปี 2011 ในรูปแบบเว็บไซต์ที่เก็บบันทึกข้อมูลของสัตว์ที่ถูกส่งเข้ามายังศูนย์ฟื้นฟูทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนนำข้อมูลเหล่านั้นมาบันทึกในรูปแบบดิจิทัล (Digitized) เพื่อให้การเข้าถึงและสืบค้นเป็นไปอย่างง่ายที่สุด

ปีที่แล้ว หลังจากมีการแปลงข้อมูลลงเป็นรูปแบบดิจิทัลครั้งใหญ่ ธาร่า เค. มิลเลอร์ (Tara K. Miller) นักวิจัยนโยบายจาก Repair Lab มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และ ริชาร์ด บี. พรีแม็ก (Richard B. Primack) อาจารย์ชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้ใช้ข้อมูลนี้ในการศึกษาถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บของสัตว์ โดยรายงานการศึกษาในครั้งนี้นับเป็นการศึกษาจากจำนวนเคสที่มากที่สุดครั้งหนึ่งในขอบเขตการศึกษาประเด็นดังกล่าว โดยรวบรวมข้อมูลกว่า 674,320 กรณี เป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2011-2019 จาก 94 ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อระบุหาสาเหตุที่แท้จริงว่า กิจกรรมมนุษย์ใดบ้างที่เป็นภัยอันตรายต่อสัตว์ป่ากว่า 1,000 ชนิดทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา


International Fund for Animal Welfare / Pexels

ฐานข้อมูลกำลังบอกอะไร
มนุษย์มีส่วนต้องรับผิดชอบกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตของสัตว์มากมายหลายสายพันธุ์ในแต่ละปี บรรดานกน้อยที่บินชนตึกสูงและร่วงหล่นลงมาเสียชีวิต แมลงต่าง ๆ ที่ถูกรุกรานจากการเกษตรและการใช้ยาฆ่าแมลง รวมไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอย่างทวีคูณ กระทั่งระบบนิเวศเสียสมดุล

แต่ก็เป็นมนุษย์กลุ่มหนึ่งอีกเช่นกันที่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วโดยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (International Fund for Animal Welfare, IFAW) เผยว่า 71% ของคนอเมริกันจะเลือกประธานาธิบดีที่มีนโยบายอนุรักษ์สัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ 

สัตว์น้อยใหญ่บาดเจ็บมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนสัตว์ที่ถูกส่งตัวมายังศูนย์ฟื้นฟู โดยข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Biological Conservation ในปีที่แล้ว โดย ธาร่า เค. มิลเลอร์ และ ริชาร์ด บี. พรีแม็ก ได้แบ่งสาเหตุของอาการบาดเจ็บของสัตว์ป่าออกเป็น 7 หมวดหมู่ ได้แก่ 

  1. การก่อกวนจากน้ำมือมนุษย์ (Human Disturbance) ตัวอย่างเช่น การได้รับบาดเจ็บจากการชนของยานพาหนะหรือตึกสูง เป็นต้น
  2. สัตว์ที่กำพร้า (Orphaned) ตัวอย่างเช่น สัตว์ป่าที่ยังอยู่ในวัยแรกเกิด และยังต้องการการดูแลจากพ่อแม่
  3. สัตว์ที่บาดเจ็บหรือป่วย (Injured or sick) ตัวอย่างเช่น สัตว์ที่บาดเจ็บ เครียด และเสียชีวิต
  4. การก่อกวนจากธรรมชาติ (Natural Disturbance) ตัวอย่างเช่น สัตว์ที่โดนล่าจากผู้ล่า 
  5. การติดเชื้อ (Infectious disease) ตัวอย่างเช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส
  6. สารพิษตกค้าง (Toxicant) ตัวอย่างเช่น สัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว และสารเคมีอื่น ๆ
  7. สาเหตุที่ยังไม่ทราบแน่ชัดและอื่น ๆ (Unknown or Others)


 Mikhail Nilov / Pexels

ผลจากการวิจัยพบว่า 39.8% ของสัตว์ที่ถูกนำส่งมายังศูนย์ฟื้นฟูเกิดจากสาเหตุแรก นั่นคือการถูกก่อกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ โดย 12% เป็นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากยานพาหนะของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น นกเค้าแมวเขาใหญ่ (Great Horned Owl) ซึ่งเป็นนกที่พบได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา ได้รับบาดเจ็บจากการโดนรถชนมากที่สุด เพราะนกชนิดนี้มักจะบินหาอาหารในระดับเดียวกับรถยนต์พอดี

การก่อกวนโดยมนุษย์ยังส่งผลต่อนกอีกหลายชนิด โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของตึกสูงต่าง ๆ ที่มักพบว่าสัตว์มักได้รับบาดเจ็บจากการบินชนกับกระจกบนตึกสูง ซึ่งกลายเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของนกค้างคาวสีน้ำตาล (Big Brown Bat) 

ในส่วนของสารพิษตกค้างนั้น พบเพียง 3.4% ของทั้งหมด แต่ก็มีผลเป็นพิเศษกับสัตว์บางชนิด ตัวอย่างเช่นนกอินทรีหัวขาว (White-Head Eagle) ที่เป็นสัตว์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการได้รับสารตะกั่ว

สุดท้ายคือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ที่งานวิจัยพบว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติจากสภาพอากาศอย่างเช่นพายุเฮอร์ริเคน จะมีสัตว์ป่าถูกส่งเข้ามายังศูนย์ฟื้นฟูมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าจะเกิดภัยพิบัติ อย่างเช่นพายุเฮอร์ริเคนและน้ำท่วมในรัฐฟลอริดา ซึ่งความรุนแรงมีแนวโน้มทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับสถานการณ์อุณหภูมิโลกที่กวัดแกว่งอย่างมีนัยสำคัญ


International Fund for Animal Welfare / Pexels

จากฐานข้อมูลสู่แนวทางการแก้ปัญหา
เมื่อเรามีข้อมูลที่มากเพียงพอ จึงนำมาสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นเรื่องการสัญจร เมื่อกระทรวงคมนาคมได้รับรู้ถึงสาเหตุการบาดเจ็บของสัตว์โดยรถยนต์แล้ว ก็สามารถนำปัญหานี้มาแก้ไขได้ด้วยการสร้างทางข้ามสำหรับสัตว์ป่าโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นทางข้ามบนถนน สะพาน หรือแม้แต่อุโมงค์ใต้ดิน

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องก็สามารถร่วมกันแบนการใช้ตะกั่วกับเบ็ดตกปลา หรือสารเคมีอันตรายอื่น ๆ ในธรรมชาติโดยขาดความระมัดระวัง เพื่อป้องกันสารพิษไปสู่สัตว์อื่น และต่อจากนี้ หลังเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใด หน่วยงานต่าง ๆ นอกจากจะเตรียมแผนรับมือเยียวยาให้ผู้ประสบภัยที่เป็นมนุษย์แล้ว ก็ยังต้องใส่ใจและคำนึงถึงในส่วนสวัสดิภาพของสัตว์ให้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน

การมีฐานข้อมูลที่เป็นหลักฐานชัดเจนและเข้าถึงได้ง่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้า จึงไม่เพียงส่งผลต่อแนวทางการแก้ปัญหาที่อิงจากข้อมูลจริงและทันสมัย แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยที่จะใช้เพื่อศึกษาและค้นคว้าวิจัยถึงปัจจัยและมูลเหตุของปรากฏการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเราได้มากยิ่งขึ้น 

เพราะการเรียนรู้และป้องกันการบาดเจ็บของสัตว์ป่า ไม่เพียงช่วยให้สิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเรามีชีวิตที่ดีมากขึ้น แต่ยังส่งผลให้ระบบนิเวศของโลกคงความสมดุลตามไปด้วย เพราะการใส่ใจนี้จะส่งผลให้เราตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง พูดอย่างง่ายก็คือ การที่เรามองสัตว์อื่นนั้น เราไม่ได้มองเป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่ง ๆ แต่เราต้องมองไปยังความสัมพันธ์ที่เรามีให้ต่อสัตว์ เฉกเช่นเดียวกับที่สัตว์มีให้ต่อเรา เพื่อจะพบว่า ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนเชื่อมโยงถึงกัน และการรักษาสมดุลไว้คือสิ่งจำเป็นที่เราต้องร่วมมือกันทำ

ที่มา : บทความ “Digitized records from wildlife centers show the most common ways that humans harm wild animals” โดย Tara K. Miller และ Richard B. Primack
บทความ “Wildlife rehabilitation records reveal impacts of anthropogenic activities on wildlife health” โดย Tara K. Miller และ Richard B. Primack 
บทความ “Threats to Birds: Collisions-Road Vehicles” โดย U.S. Fish & Wildlife Service
เว็บไซต์ https://www.wild-one.org/

เรื่อง : คณิศร สันติไชยกุล