“แมลง” เพื่อนตัวจิ๋วที่ช่วยลดปัญหาขยะอาหารล้นเมือง
“แมลง” เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาจสร้างปัญหากวนใจภายในบ้านของใครหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่าเพื่อนตัวจิ๋วเหล่านี้มีประโยชน์มากมายที่เราอาจจะคาดไม่ถึง เพราะแมลงไม่เพียงแต่ช่วยรักษาระบบนิเวศบริเวณโดยรอบเมืองของเราแล้ว วงจรชีวิตของแมลงยังสามารถช่วยย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แมลงจึงเป็นหนึ่งในทางออกสำหรับการลดปัญหาปริมาณขยะอาหารมหาศาลที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และพวกมันยังมีศักยภาพในการช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษย์ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
Pete Linforth / Pixabay
ปัญหาขยะอาหารล้นเมือง
ปัจจุบันเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมีขยะอาหารเหลือทิ้งคิดเป็น 30-50% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าอาหารมากเกินความจำเป็นและปล่อยให้เน่าเสียจนต้องทิ้งไป แม้ว่าอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วการบริโภคอาหารไม่หมดจนเกิดเป็นขยะอาหารนั้นส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะกระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการขนส่งที่มากขึ้น ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
ไม่เพียงแต่พฤติกรรมของผู้บริโภคเท่านั้น อาหารบางส่วนยังสูญเสียไประหว่างกระบวนการเก็บเกี่ยว แปรรูป หรือขนส่ง และยังมีอาหารมีอีกมากที่เหลือทิ้งจากร้านค้าปลีกและร้านอาหาร เนื่องจากไม่ได้รับการส่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งแม้ว่าอาหารเหลือทิ้งเหล่านี้บางส่วนจะยังไม่เน่าเสียและยังสามารถบริโภคได้ แต่ก็ไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังผู้ยากไร้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรอาหาร ทำให้อาหารเหลือทิ้งจำนวนมากถูกนำไปจัดการในรูปแบบ “ขยะ”
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency: EPA) ให้ข้อมูลของสหรัฐอเมริกาในปี 2018 ชี้ว่า ขยะอาหารคิดเป็น 24% ของขยะทั้งหมดที่ถูกฝังกลบ และคิดเป็น 22% ของขยะทั้งหมดที่ถูกนำไปเผาทำลาย ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่า การสูญเสียอาหารและการกำจัดขยะอาหารด้วยวิธีการเหล่านี้ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนทั่วโลก
Donald Tong / Pexels
สลายขยะอาหารด้วยแมลง
ท่ามกลางสถานการณ์ขยะอาหารล้นเมือง แมลงกลายเป็นเพื่อนตัวจิ๋วที่สามารถช่วยลดปริมาณขยะเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ด้วยการแปรรูปสารอินทรีย์จากขยะอาหารให้เป็นอาหารของแมลง ลูอีซ เฮโนลต์-เอธิเยร์ (Louise Hénault-Ethier) ผู้จัดการโครงการวิทยาศาสตร์ของมูลนิธิเดวิด ซูซูกิ (David Suzuki Foundation) ในแคนาดาชี้ว่า แมลงสามารถลดปริมาณขยะอินทรีย์ได้มากถึง 50-75% ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลงและประเภทของขยะอาหาร
โดยแมลงแต่ละชนิดมีความสามารถในการย่อยสลายขยะอาหารที่แตกต่างกันตามธรรมชาติของแมลง ไม่ว่าจะเป็นแมลงกินน้ำหวาน แมลงผสมเกสร แมลงกินพืช แมลงกินเนื้อ แมลงกินซากพืชซากสัตว์ แมลงกินของเน่าเสีย และแมลงกินมูลสัตว์ ตัวอย่างเช่น จิ้งหรีดที่มีความสามารถในการบริโภคขยะอินทรีย์สดได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเศษผัก ผลไม้ และธัญพืช ส่วนหนอนแมลงวันลายก็สามารถกินขยะอินทรีย์ได้หลายชนิดเช่นกัน รวมถึงของเสียจากสัตว์และมนุษย์ด้วย ขณะที่หนอนนกสามารถเติบโตได้ทั้งในขยะอินทรีย์ชนิดสดและแห้ง
การคัดแยกอาหารให้ตรงตามความต้องการของแมลงแต่ละชนิดจึงมีความสำคัญ และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการทิ้งขยะของมนุษย์ รวมถึงสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ที่ส่งผลต่อการย่อยสลายขยะอาหารของแมลงเช่นกัน ดังนั้น การใช้แมลงช่วยย่อยอาหารจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อออกแบบระบบการย่อยสลายขยะอาหารด้วยแมลงที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อให้สามารถลดปริมาณขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Weronika Romanowska / Unsplash
เมืองสะอาดด้วยฮีโร่ตัวน้อย
ไม่เพียงแต่กระบวนการย่อยสลายขยะอาหารด้วยแมลงที่เลี้ยงในระบบปิดเท่านั้น แต่การศึกษาในนิวยอร์กซิตี้ของสหรัฐอเมริกาพบว่า แมลงทั่วไปที่ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองก็มีส่วนช่วยลดปริมาณขยะอาหารเช่นกัน โดยแมลงบริโภคเศษอาหารตามถังขยะและท้องถนนในเมืองได้ราว 950 กิโลกรัมต่อปี หรือเทียบได้กับฮอตด็อก 60,000 ชิ้น เอลซา ยังสเตดต์ (Elsa Youngsteadt) นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนาซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า “ถ้าแมลงไม่กินอาหารเหล่านี้ มันก็หมักหมมและเน่าเหม็น”
งานวิจัยดังกล่าวได้ทดลองโดยการจัดวางเศษอาหารอย่างฮอตด็อก คุกกี้ และมันฝรั่งทอด ไว้ตามแนวหญ้า 24 จุด จากแนวถนนเวสต์สตรีท บรอดเวย์ ถนนสายที่ 11 และ 12 ทางฝั่งตะวันตกของแมนฮัตตัน และในสวนสาธารณะ 21 แห่งในนิวยอร์กซิตี้ โดยมีกรงป้องกันสัตว์ใหญ่อย่างนกและหนูไม่ให้เข้าถึงอาหารได้ เมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมงพบว่า แมลงสามารถบริโภคเศษอาหารทดลองได้มากถึง 85%
ผลงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าแมลง แมงมุม รวมถึงสัตว์ขาปล้องอื่นอย่างมด ด้วง และกิ้งกือ ที่ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองต่างมีส่วนในการลดปริมาณขยะอาหาร โดยเฉพาะการกินเศษอาหารชิ้นเล็ก ๆ อย่างมันฝรั่งทอดและคุกกี้ที่สัตว์ขาปล้องชื่นชอบเป็นพิเศษ สะท้อนให้เห็นประโยชน์ของเพื่อนตัวจิ๋วที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนในเมืองใหญ่เหล่านี้ที่เราอาจมองข้ามมาก่อน แต่แง่ดีเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรจะให้อาหารต่อมดหรือแมลงอื่น ๆ โดยตรง เพราะการคัดแยกขยะและการทิ้งขยะอย่างถูกต้องยังคงมีความสำคัญต่อการรักษาความสะอาดและการป้องกันโรค
katerinavulcova / Pixabay
แมลงกับความมั่นคงทางอาหาร
ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะอาหารเท่านั้น ผลลัพธ์จากการย่อยสลายอาหารของแมลงยังมีประโยชน์ในแง่อื่นด้วย โดยมูลหรือเศษซากที่เหลือจากการบริโภคของแมลงยังกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ สำหรับสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ ของเมืองได้ และกระบวนการย่อยสลายขยะอาหารของแมลงยังสามารถช่วยลดพื้นที่ฝังกลบในเมืองได้หลายร้อยตันต่อวัน นอกจากนั้นแมลงบางชนิดยังสามารถเป็นอาหารของคนและสัตว์ได้
การบริโภคแมลงกลายเป็นกระแสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติให้ผู้คนหันมาบริโภคแมลงมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากปริมาณอาหารไม่เพียงพอต่อประชากรมนุษย์ที่คาดว่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 9,000 ล้านคนภายในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปัจจุบัน แมลงจึงมีศักยภาพในการรักษาความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษย์อย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่สูงและมีราคาถูก
การเลี้ยงแมลงต้องการพื้นที่ น้ำ อาหาร และการดูแลรักษาน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์อื่นมาก อีกทั้งกระบวนการเลี้ยงแมลงยังปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นอันตรายต่อสภาพอากาศน้อยกว่าการเลี้ยงวัวถึง 80 เท่า การเลี้ยงแมลงจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าปศุสัตว์อื่น ๆ และนอกจากจะเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว แมลงยังสามารถเป็นอาหารของสัตว์อื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะปลาและสัตว์ปีกที่สามารถกินแมลงได้ และยังสามารถผสมแมลงกับอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มโปรตีนได้อีกด้วย
ปัจจุบันภาคธุรกิจจำนวนมากมีความตื่นตัวในการใช้แมลงเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ อย่าง Jiminy's สตาร์ทอัปที่ใช้แมลงเป็นวัตถุดิบหลักในการเพิ่มโปรตีนในอาหารสุนัข หรือ Cricket One Asia ที่ใช้จิ้งหรีดแปรรูปเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ส่วน Beobia ก็เป็นสตาร์ทอัปที่ออกแบบรังเทียมสำหรับการเลี้ยงหนอนนกด้วยเศษอาหารในครัวเรือน เพื่อใช้หนอนเหล่านั้นในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงภายในบ้านอย่างนกและปลาต่อไปได้
นับว่าแมลงเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีประโยชน์มหาศาล ช่วยรักษาความสะอาดและลดปริมาณขยะอาหารให้กับเมือง นอกจากนี้ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมาย และในภาพใหญ่ สัตว์ตัวจิ๋วเหล่านี้ยังอาจมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางอาหารเพื่อการอยู่รอดของพวกเราในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย
ที่มา : บทความ “Bugs Eat Our Food Waste” โดย Marsha W. Johnston
บทความ “Insects – a sustainable food choice and a key to food waste reduction” โดย SOS-Content Staffs
บทความ “15 quick tips for reducing food waste and becoming a Food hero” จาก fao.org
บทความ “Sustainable Management of Food Basics” จาก epa.gov
บทความ “This insect could eliminate food waste in cities. Here’s how” โดย Sasha Babitsky
บทความ “Bugs, Spiders Keep NYC Clean by Eating Garbage” โดย Carrie Arnold
บทความ "Ants clean tons of trash from New York streets each year” โดย Michael Casey
เรื่อง : ธีรพล บัวกระโทก