Virtual Media Lab Open House  เสวนากับ 3 นักสร้างสรรค์แห่งโลกเสมือน สู่โลกแห่งการสร้างผลงานยุคใหม่ด้วย Virtual Production
Technology & Innovation

Virtual Media Lab Open House เสวนากับ 3 นักสร้างสรรค์แห่งโลกเสมือน สู่โลกแห่งการสร้างผลงานยุคใหม่ด้วย Virtual Production

  • 27 Aug 2024
  • 574

กิจกรรมเสวนา “Virtual Media Lab Open House” ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ Virtual Media Lab (VML) ชั้น 4 TCDC กรุงเทพฯ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ไทยและบุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้าน Virtual Production และ Immersive Technology นวัตกรรมล้ำสมัยที่สายการผลิตจำเป็นต้องทำความรู้จัก

เพราะนอกจากที่การเรียนรู้ระบบ Virtual Production นี้ให้เข้าใจและใช้งานได้จริงนั้นจะช่วยส่งเสริมทักษะ Upskill และ Reskill พร้อมสร้างความเข้าใจต่อรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ผู้เข้าร่วมเสวนายังจะได้เรียนรู้โปรแกรมหลักที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงเทคนิคสำคัญในการจัดแสง เพื่อช่วยยกระดับความสามารถและขยายโอกาสให้แก่ศิลปินและนักออกแบบสร้างสรรค์ไทยในอุตสาหกรรมคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ไปได้ไกลในระดับสากล

และสำหรับใครที่พลาดกิจกรรมเสวนาในวันนั้นไป ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะ “คิด” ได้เก็บรายละเอียดสำคัญมาฝากกันในบทความนี้แล้ว

เติมเต็มทุกทักษะ ณ พื้นที่ Virtual Media Lab (VML) 
วิทยากรทั้ง 3 คนที่มาให้ความรู้ในครั้งนี้ ได้แก่ คุณวัฒนธรรม ทรัพย์เกิด ที่มาร่วมพูดคุยและแนะนำให้รู้จักกับเทคโนโลนี Unreal Engine ในหัวข้อ “Unreal Engine for Virtual Production” คุณศิรสิทธิ์ เศวตพรหม ที่มาแนะนำกระบวนการสร้างสรรค์งานด้วยระบบ Virtual Production ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับถ่ายทำ และเทคโนโลยี Realtime-Render ในหัวข้อ “Intro to Virtual Production” ปิดท้ายด้วยคุณฮาดิษ เรืองเจริญ ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการจัดแสง เพื่อเพิ่มความเสมือนจริงของฉาก ในหัวข้อ “Lighting for Virtual Production”

กิจกรรมเสวนาเริ่มต้นด้วยการแนะนำห้อง Virtual Media Lab โดยคุณวริทธิ ตีรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจและนวัตกรรม สำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) โดยอธิบายว่า “Virtual Media Lab (VML) หรือ ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะของนักสร้างสรรค์ไทยในการทำงานด้าน Virtual Media โดยจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สนับสนุนพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์สู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจโลกเสมือน ที่แห่งนี้มีอุปกรณ์ที่ครบครันทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างคอนเทนต์บนโลกเสมือน โดยมีแนวทางหลัก 3 อย่างในการสร้างคน สร้างผลงาน และสร้างธุรกิจ

  1. เพิ่มและพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์ (Upskill & Reskill)
  2. สร้างตัวอย่างและเป็นแรงผลักดันให้กับอุตสาหกรรม (Showcases & Springboard)
  3. พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Contents Ecosystem)


คุณวัฒนธรรม ทรัพย์เกิด

Unreal Engine for Virtual Production โดย คุณวัฒนธรรม ทรัพย์เกิด
คุณวัฒนธรรม ทรัพย์เกิด บุคลากรด้านการสร้างสรรค์ทรัพย์สินดิจิทัลสามมิติ ด้วยซอฟต์แวร์ Unreal Engine ได้มาแนะนำให้รู้จักเทคโนโลยี Unreal Engine ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการทำ Virtual Media ให้มีความสมจริง และการปรับตัวของนักสร้างสรรค์ต่อเทคโนโลยีใหม่อย่าง Real-time Render 

กระบวนการทำงานด้วย Virtual Production หรือกระบวนการสร้างโลกเสมือนด้วย Unreal Engine และกระบวนการ Real-time Render จะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือกระบวนการก่อนถ่ายทำ (Pre-Production) และระหว่างถ่ายทำ (Production) เพราะหากใช้เทคโนโลยีนี้ การทำแอนิเมชัน เกม วิชวลเอฟเฟ็กต์ จะถูกย้ายจากเดิมที่อยู่ในช่วงหลังการถ่ายทำ (Post-Production) มาอยู่ในช่วงก่อนการถ่ายทำ จึงสามารถช่วยในการพัฒนาบทในฝั่งของผู้ที่ทำภาพยนตร์ หรือฝั่งเกมในการทำ Real-time Render จะช่วยให้สามารถทดสอบ Assets หรือส่วนประกอบในการสร้างฉากเสมือนจริงได้ก่อนว่าเพียงพอสำหรับการถ่ายทำหรือไม่ ข้อมูลและบทต่าง ๆ ที่ถูกเขียนจะสามารถถ่ายด้วยกันได้จริงไหม หรือควรจะใช้เทคนิคแบบใดให้สามารถถ่ายทำได้ง่ายและได้ผลลัพธ์ที่สวยงาม เป็นต้น จะแตกต่างจากการทำงานแบบเดิมที่ต้องไปเติม CGI หรือเติมแต่งทีหลังในกระบวนการ Post-Production นั่นเอง

Real-time Render เป็นหัวใจสำคัญของการถ่ายทำแบบโลกเสมือน ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ไม่จำเป็นต้องรอ 2-3 นาทีในการเรนเดอร์ชิ้นงานให้ได้เห็น แต่สามารถเห็นได้แบบเรียลไทม์ทันที เมื่อวาง Assets หรือจัดแสง ก็จะเห็นภาพที่เปลี่ยนไปบนหน้าจอได้ในเวลานั้น ซึ่งองค์ความรู้ที่ควรมีในการทำ Virtual Production มีดังนี้

  1. พื้นฐานความเข้าใจใน Virtual Production และความสำคัญของ Real-time Render
  2. การสร้างเทคนิคพิเศษทางภาพสำหรับงานดิจิทัล
  3. การออกแบบการผลิตที่เหมาะสมกับระบบ Virtual Production
  4. การเขียนระบบเพื่อนำค่ากล้องมาใช้กับ Virtual Production

ทั้ง 4 องค์ความรู้นี้ล้วนมีความสำคัญกับสายงาน Virtual Production ฉะนั้นนักสร้างสรรค์จึงควรเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพและง่ายต่อการทำงานมากยิ่งขึ้น


คุณศิรสิทธิ์ เศวตพรหม

Intro to Virtual Production โดย คุณศิรสิทธิ์ เศวตพรหม
คุณศิรสิทธิ์ เศวตพรหม Virtual Production Supervisor แห่ง Real Bangkok Digital Media ได้มาแนะนำให้รู้จักกับคำว่า Virtual Production หรือการผลิตสื่อโดยใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน โดยได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากภาพยนตร์ งานแสดงดนตรีออนไลน์ และโฆษณาที่หลากหลายทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ

การผลิต Virtual Production โดยใช้จอภาพในการฉายฉากอยู่ด้านหลัง เรียกสั้น ๆ ว่า ICVFX (In-Camera Visual Effects) ซึ่งแตกต่างจากการผลิตสื่อแบบดั้งเดิมตรงที่ในขั้นตอน Pre-Production จะมีการทำ Assets ที่ใช้ประกอบฉากโดยทีม Virtual Art Department ซึ่งเป็นทีมอาร์ตในโลกเสมือน ทำงานคู่กับทีมอาร์ตในโลกแห่งความจริงในการจัดพร็อปประกอบฉากเพื่อให้มีความเข้ากันกับภาพบนหน้าจอ มีการวางแผนเรื่องการออกแบบมุมกล้อง ว่าจะต้องใช้จอขนาดไหนในการถ่ายมุมกล้องแบบนี้

ส่วนในขั้นตอน Post-Production คุณศิรสิทธิ์ได้กล่าวย้ำว่า Virtual Production ไม่จำเป็นต้องใช้หน้าจอเป็นฉากหลังตลอดการถ่ายทำ เช่น การไม่เปิดภาพอะไรบนจอเลย เปิดเพียงแค่แสงสีขาวเพื่อนำไปใส่ CGI ในภายหลัง อาจมีได้หลายสาเหตุ เช่น แสงไม่เหมาะสมกับการถ่ายทำฉากนั้น หรือว่ายังทำพื้นหลังไม่เสร็จในวันถ่ายทำ ก็อาจมีการใช้ Green Screen (ฉากเขียว) หรือ Blue Screen ในการถ่ายทำร่วมกับการใช้ LED Wall ด้วยได้ ดังนั้น ICVFX จึงไม่ได้เข้ามาแทนที่การใช้ CGI และ Green Screen แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นเทคนิคที่นำมาปรับใช้ให้เข้ากับในบางสถานการณ์


คุณฮาดิษ เรืองเจริญ 

Lighting for Virtual Production โดย คุณฮาดิษ เรืองเจริญ
คุณฮาดิษ เรืองเจริญ ได้มาให้ความรู้เรื่องเทคนิคการจัดเเสงเพื่อเพิ่มความเสมือนจริงให้กับฉาก ให้สอดรับกับภาพในจอเเสดงผล และเทคนิคการจัดแสง (Light Types) บนโปรแกรม Unreal Engine โดยคุณฮาดิษได้แชร์ประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับแสงในกองถ่าย Virtual Production ว่า ปกติหากหน้าจอ LED มีความโค้งและเมื่อทำการสาดแสงไปที่จอ จะปรากฏเป็นเส้นตามความโค้งบนหน้าจอ วิธีการแก้ปัญหาคือการใช้ ‘คัทดำ’ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นกรองแสงสีดำ มาใช้ในการกรองแสงไม่ให้โดนหน้าจอ

ในการทำงานด้วยโปรแกรม Unreal Engine คุณฮาดิษจะลองนำโมเดลไปใส่ในฉากก่อน แล้วดู Key Light ว่าทิศทางของแสงมาจากทางไหน เพื่อดูเป็นไกด์ไลน์แล้วนำมาปรับใช้ในหน้างาน ว่าจะเติม Back Light หรือ Fill Light ที่จุดไหนดี

จอ LED ที่ใช้ในการทำงาน Virtual Production นั้นมีความสว่างมาก จึงมีการใช้เทคนิค “Light Card” ในการให้แสงสว่างจากจอ LED โดยตรง ไม่ว่าจะเติมเป็น Back Light, Fill Light หรือ Top Light ได้ตามแต่การออกแบบ การใช้ Light Card มีประโยชน์ตรงที่สามารถจัดแสงได้โดยไม่จำเป็นต้องลากหลอดไฟและขาตั้งที่มีขนาดใหญ่มาเข้าฉากด้วย และช่วยประหยัดเวลาในการถ่ายทำ

“LED Punching” คือการถอดจอบางส่วนออกมาเพื่อติดตั้งหลอดไฟเข้าไปแทน ในกรณีที่ต้องการใช้ Gobo (ลายฉลุที่นำมาใช้วางกั้นแสงเพื่อให้เกิดเงาลวดลายต่าง ๆ) หรือ Hard Light ฉายเข้าสู่ตัวแบบ

“Pixel Mapping - IBL” คือการใช้ไฟล์วิดีโอมาแปลงให้เป็น bit แล้วนำมาใช้กับไฟบางชนิดที่สามารถดัดแปลงได้ ทำให้สร้างสภาพแวดล้อมที่สมจริงขึ้นมาได้

ส่วน “การจัดแสงด้วยระบบ DMX” หรือ Digital Multiplex นั้น เป็นระบบที่ใช้กันมากในงานคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพราะว่าง่ายต่อการควบคุม คุณฮาดิษจึงนำระบบนี้มาใช้กับการจัดแสงในกองถ่าย โดยในโปรแกรม Unreal Engine ที่จะมีปลั๊กอินหนึ่งที่เป็น DMX และสามารถควบคุมการจัดแสงไฟได้แบบเรียลไทม์ผ่านการใช้โปรแกรม

ในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักสร้างสรรค์ได้สร้างผลงานเสมือนจริงได้หลากหลายและง่ายดายยิ่งขึ้น นักสร้างสรรค์ยุคใหม่จึงควรใส่ใจกับการเพิ่มพูนทักษะเพื่อให้สามารถทำคอนเทนต์สร้างสรรค์ที่มีความสมจริงและถ่ายทอดจินตนาการออกมาได้ถึงขีดสุด หากท่านใดสนใจรับฟังงานเสวนาย้อนหลังแบบเต็มรายละเอียด สามารถรับชมผ่านไลฟ์ที่ถูกบันทึกไว้ได้ในแฟนเพจ Thailand Creative & Design Center (TCDC)

ที่มา : กิจกรรมเสวนา “Virtual Media Lab Open House”

ภาพ : จิรายุ เสรีภัทรกุล

เรื่อง : ชลธิชา แสงสีดา