The Path to Net Zero ก้าวใหม่ของธุรกิจสู่ความยั่งยืน
Technology & Innovation

The Path to Net Zero ก้าวใหม่ของธุรกิจสู่ความยั่งยืน

  • 28 Apr 2025
  • 37

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ธุรกิจในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่รัฐบาลและนานาชาติต้องร่วมกันผลักดัน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้จัดกิจกรรมเสวนา "The Path to Net Zero พลิกธุรกิจสู่วิถีคาร์บอนต่ำ 2025" ขึ้นเมื่อวันพุธที่ 26 มีนาคม 2568 เวลา 10:00 - 16:00 น. ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) ชั้น 2 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการและแนะนำแนวทางสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ไปจนถึงเข้าใจแนวทางและการวางแผนพัฒนาธุรกิจสู่ Net Zero โดยในช่วงเช้าจะเป็นการบรรยายโดยคุณพวงพันธ์ ศรีทอง และในช่วงบ่ายจะมีการเวิร์กช็อปเจาะลึกการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์โดยคุณนนทพัทธ์ แสงทรงศิลป์ โดยทั้งสองท่านเป็นตัวแทนจากสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ที่ให้เกียรติมาให้ความรู้ในกิจกรรมนี้

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) : อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization) : TGO เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม และพัฒนางานด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมีขอบเขตความรับผิดชอบที่ครอบคลุม ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานและให้บริการด้านการวัด การรายงาน การทวนสอบ และการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมและพัฒนาโครงการและตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไปจนถึงการเป็นศูนย์กลางข้อมูลและให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน 

ประเทศไทยได้ลงนามใน COP 26 (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2065 ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนในระดับประเทศ และภาคธุรกิจก็มีความจำเป็นในการปรับตัวเข้ากับมาตรการเหล่านี้เช่นเดียวกัน


คุณพวงพันธ์ ศรีทอง สำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO

‘คาร์บอนฟุตพรินต์’ ก้าวแรกสู่การลดก๊าซเรือนกระจก
เพื่อมุ่งสู่ประเทศไทยที่เป็น Carbon Neutral และ Net Zero ในอนาคต รัฐจึงมีมาตรการให้ผู้ประกอบการแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ “คาร์บอนฟุตพรินต์” ของผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการคำนวณผลรวมของการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมถึงขั้นตอนการขนส่งที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนด้วย โดยคำนวณออกมาในรูปแบบ ‘คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)’

ทั้งนี้ การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์แบ่งเป็นสองรูปแบบ ได้แก่

  1. แบบ Business-to-Business (B2B) เป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต จนถึงหน้าโรงงานพร้อมส่งออกต่อไป
  2. แบบ Business-to-Consumer (B2C) เป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบการผลิต การขนส่ง และกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังการใช้งาน

ในการคํานวณคาร์บอนฟุตปรินต์ต้องระบุหน่วยหน้าที่การทํางานหรือหน่วยผลิตภัณฑ์ประกาศใช้ โดยผลิตภัณฑ์ B2C จะคำนวณตามหน่วยหน้าที่การทำงาน ยกตัวอย่างเช่น น้ำยาล้างจานมีหน่วยการทำงานเป็นจำนวนจานที่ล้างได้ สีทาบ้านมีหน่วยเป็นขนาดพื้นที่ และผงซักฟอกมีหน่วยเป็นจำนวนเสื้อผ้า 

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์แบบ B2B จะคำนวณตามหน่วยผลิตภัณฑ์ที่ประกาศใช้ เช่น เหล็ก ที่มีหน่วยผลิตภัณฑ์ที่ประกาศใช้อยู่ที่ 1 ตัน และ กระดาษ อยู่ที่ 1 กิโลกรัม


คุณนนทพัทธ์ แสงทรงศิลป์ สำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO

Net Zero 101 ลองคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์กันดูไหม
การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ทำได้ง่าย ๆ ด้วยสูตรนี้

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ = ข้อมูลกิจกรรม x ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EF)

Emission Factor (EF) คือค่ามาตรฐานที่บอกว่ากิจกรรมหรือวัสดุต่าง ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร สามารถดูได้จากฐานข้อมูล EF ของประเทศไทย ของ อบก. (TGO) ที่นี่

อย่าลืมว่า แต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ละเชื้อเพลิง หรือการขนส่งแต่ละประเภท ล้วนมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EF) ที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนนำไปใช้คำนวณ

ตัวอย่าง : คำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้า 100 kWh

หากใช้ไฟฟ้า 100 kWh และ EF ของไฟฟ้าอยู่ที่ 0.5986 kgCO₂e/kWh โดยสามารถคำนวณได้ดังนี้

ปริมาณก๊าซเรือนกระจก = 100 (kWh) x  0.5986 =  59.86 kgCO2e

กรณีคำนวณการขนส่งสินค้า
ถ้าไม่ทราบปริมาณน้ำมันที่ใช้ สามารถใช้ค่า EF ของรถบรรทุกแต่ละประเภทที่ อบก. กำหนดไว้แล้ว

1. การคำนวณการขนส่งสินค้า (ขาไป)
ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (kgCO₂e) = ภาระบรรทุก (tkm) × EF ของรถบรรทุก (kgCO₂e/tkm)
โดยภาระบรรทุก (tkm) = น้ำหนักสินค้าที่ขนส่ง (ตัน) × ระยะทาง (กิโลเมตร)

2. กรณีตีรถเปล่า (0% โหลด)
ปริมาณก๊าซเรือนกระจก = ภาระบรรทุก (km) × EF ของรถบรรทุก (kgCO₂e/tkm)
โดยภาระบรรทุก (km) คำนวณได้จาก (น้ำหนักสินค้าที่ขนส่ง (ตัน) × ระยะทาง (กิโลเมตร)) ÷ พิกัดน้ำหนักบรรทุกของรถ (ตัน) หรือ ภาระบรรทุกขาไป ÷ พิกัดน้ำหนักรถ (ตัน)

“ก๊าซเรือนกระจก” คำนวณแล้วไซร้ ได้เวลาช่วยกันลด
เมื่อผู้ประกอบการได้ทำการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์และดำเนินการกับ อบก. แล้ว จะต้องนำฉลากแสดงปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือเครื่องหมาย CFP ไปพิมพ์ลงบนฉลากของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ หากผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่านกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตแล้ว ก็จะได้รับเครื่องหมายรับรองการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ฉลากลดโลกร้อน” นั่นเอง

โดยมีเกณฑ์การประเมิน 2 ข้อ (เลือกเพียงข้อใดข้อหนึ่ง)

  1. ค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ปีปัจจุบันลดลงจากปีฐานมากกว่าหรือเท่ากับ 2%
  2. ค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ปีปัจจุบัน ต่ำกว่าหรือเท่ากับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์

หากท่านใดสนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ อบก. https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/

ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/