
รักจะใช้ AI ต้องไม่เดือดร้อนโลก : 3 วิธีใช้ AI อย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่เริ่มต้นการพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพในแทบทุกภาคอุตสาหกรรม ล่าสุด AI ได้ถูกรวมเข้ากับข้อมูลทางฟิสิกส์เพื่อสร้างแบบจำลองภูมิอากาศ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก ได้เผยผลลัพธ์ที่น่าตื่นตะลึง เพราะมันสามารถคาดการณ์รูปแบบภูมิอากาศล่วงหน้า 100 ปีได้ภายในเวลาเพียง 25 ชั่วโมง เร็วกว่าโมเดลก่อน ๆ ที่ใช้เวลาหลายวัน ถือเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพที่น่าทึ่งนี้ก็ไม่ได้ปราศจากซึ่งต้นทุน เพราะ AI เองก็มี “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ที่ต้องพิจารณา
(Growtika / Unsplash)
ท่ามกลางข้อถกเถียงของการใช้ AI ในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า การฝึกฝนโมเดล AI ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโมเดลภาษาที่ได้รับความนิยม เช่น ChatGPT ต้องใช้พลังงานมหาศาล โดยต้องพึ่งพาศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่สร้างความร้อนจำนวนมากและต้องใช้น้ำในปริมาณมหาศาลเพื่อระบายความร้อนให้ระบบสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อาจเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกถึง 14% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
นอกจากนี้ สายไฟและชิ้นส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน AI ที่ล้วนผลิตจากแร่ธาตุหายากซึ่งได้จากการทำเหมืองอย่างไม่ยั่งยืน ตลอดจนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า AI อาจส่งผลเสียสุทธิต่อสุขภาพของโลกใบนี้อย่างไร
แม้จะมีข้อกังวล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ยังคงพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดพร้อม ๆ กับจำนวนผู้ใช้บริการ และได้รับการนำไปในหลายภาคส่วน ซึ่งอาจบ่งบอกว่า พลังงานที่ใช้ไปนั้นไม่ได้เสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ และอาจก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การช่วยย่นระยะเวลาในการวิจัยและแก้ปัญหาประเด็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
คำถามที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า แล้วเราจะมีวิธีการใช้ AI อย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพื่อให้เทคโนโลยีอัจฉริยะนี้เป็นพลังเสริมที่ยั่งยืนต่อโลกใบนี้อย่างแท้จริง
(Nguyen Dang Hoang Nhu / Unsplash)
3 วิธีใช้ AI อย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
แม้ AI จะทรงพลังเพียงใด แต่การใช้งานที่ไม่ระวังก็อาจทิ้ง “รอยเท้าคาร์บอน” ไว้ให้โลกโดยไม่รู้ตัว หากอยากเป็นผู้ใช้ AI ที่คำนึงถึงความยั่งยืน ลองเริ่มจาก 3 วิธีปฏิบัติง่าย ๆ ต่อไปนี้
- ใช้ AI เมื่อจำเป็นเท่านั้น
ก่อนเปิดใช้ AI ทุกครั้ง ลองถามตัวเองว่า นี่คือเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดหรือไม่ เพราะหลายงานอาจไม่ต้องพึ่งพา AI เสมอไป เช่น การหาข้อมูลทั่วไปที่ Google สามารถตอบได้ทันที แถมบางบริการยังใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วด้วย การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม คือจุดเริ่มต้นของการลดการปล่อยคาร์บอนโดยไม่รู้ตัว - ปรับปรุงคำสั่ง (Prompt) ให้ตรงเป้าที่สุด
ทุกคำสั่ง (Prompt) ที่ส่งให้ AI ประมวลผล ต่างต้องใช้พลังงานจากเซิร์ฟเวอร์ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้คำถามซ้ำ ๆ หรือการทดลองผิดถูกหลายครั้งหากเป็นไปได้ นอกจากนี้ การตั้งคำถามให้ชัดเจนและตั้งใจ มีอิทธิพลอย่างมากต่อคุณภาพของผลลัพธ์ที่คุณได้รับ ยิ่งคำสั่งที่มีรายละเอียดมาก คุณภาพของผลลัพธ์ก็จะมากตาม ทั้งยังช่วยให้คุณรู้สึกท้อแท้น้อยลงและได้รับคำตอบที่ดีกว่า โดยเคล็ดลับการตั้งคำสั่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (อ้างอิงจาก Harvard IT Department) ได้แก่- ระบุให้ชัดเจน ว่าอยากได้อะไร เช่น “เขียนนิทานสำหรับเด็กประถม แนวสร้างแรงบันดาลใจ” แทนคำว่า “เขียนเรื่องราว” ที่จะได้ผลลัพธ์ทั่วไป
- ใส่บริบท เช่น “ทำเหมือนกับว่าเป็นโค้ชด้านสุขภาพ” เพื่อให้ AI ปรับโทนให้เหมาะสม
- ระบุรูปแบบผลลัพธ์ เช่น อยากได้ “สูตรอาหาร” “รายงาน” หรือ “โพสต์สำหรับ Facebook”
- ใช้คำว่า “ทำ” และ “อย่าทำ” เช่น “อย่าใช้ภาษาทางการ” เพื่อให้ได้เนื้อหาตรงใจ
- ใส่ตัวอย่างประกอบ เพื่อให้ AI เข้าใจสไตล์ที่ต้องการ
- บอกโทนและกลุ่มเป้าหมาย เช่น “โทนสนุกสำหรับวัยรุ่น”
- ต่อยอดจากคำสั่งเดิม แทนที่จะพิมพ์ใหม่ทุกครั้ง คุณสามารถค่อย ๆ เพิ่มข้อมูลและรายละเอียดในแต่ละคำสั่ง เพื่อเพิ่มความแม่นยำของคำตอบไปเรื่อย ๆ
- ให้ฟีดแบ็กกลับไป บอกสิ่งที่ไม่ตรงใจ เพื่อให้ AI ปรับคำตอบรอบต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
- ขอให้ AI ช่วยสร้าง prompt ถ้าเริ่มต้นไม่ถูก เช่น “ช่วยบอกฉันว่าควรถามอะไรเพื่อเขียนโพสต์เรื่อง AI อย่างมีความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญมากก็คือ ต้องระลึกไว้เสมอว่า เนื้อหาที่สร้างโดย AI อาจไม่ถูกต้อง อาจทำให้เข้าใจผิด อาจเป็นการแต่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด หรืออาจเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงควรตรวจสอบงานที่มีเนื้อหา AI อย่างรอบคอบก่อนที่คุณจะนำไปใช้หรือเผยแพร่
- ติดตามรอยเท้าคาร์บอนของ AI
ในปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ กำลังเริ่มใช้การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์เป็นหนึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จ รวมถึงการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ในการเลือกใช้งาน AI อย่างมีวิจารณญาณและรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น CodeCarbon ซอฟต์แวร์ที่โอเพนซอร์สที่ช่วยให้องค์กรติดตามการใช้พลังงานและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการประมวลผล AI บนคลาวด์หรือคอมพิวเตอร์ เพราะยิ่งเข้าใจผลกระทบ ก็จะยิ่งสามารถออกแบบนโยบายและการใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างรอบคอบมากขึ้น
แม้ AI จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงศักยภาพมากที่สุดยุคปัจจุบัน แต่ก็เฉกเช่นเดียวกับทุกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ ที่ย่อมมีทั้งคุณและโทษ การใช้ AI อย่างรับผิดชอบจึงไม่ควรหยุดเพียงแค่การลดการใช้พลังงาน แต่ต้องครอบคลุมถึงการออกแบบและการใช้งานที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง เพราะท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีที่ดีก็ควรเป็นพลังที่ช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ฉลาดขึ้นเท่านั้น
ที่มา : บทความ “How to use AI sustainably: a practical guide for greener tech” โดย Jamie-Leigh Hector
บทความ “4 steps to using AI in an environmentally responsible way” โดย Mansour AlAnsari
บทความ “Getting started with prompts for text-based Generative AI tools” จาก Harvard University Information Technology