อยากกินผลไม้ไทยที่ต่างแดนไม่ใช่ปัญหา! ปลอดล็อกด้วยนวัตกรรมควบคุมการหายใจของผลไม้
Technology & Innovation

อยากกินผลไม้ไทยที่ต่างแดนไม่ใช่ปัญหา! ปลอดล็อกด้วยนวัตกรรมควบคุมการหายใจของผลไม้

  • 05 Sep 2023
  • 634

หิ้วถุงผลไม้มาจากตลาด ซูเปอร์มาเก็ต ตอนเลือกมาก็ผิวสวย เต่งตึง แต่ยังไม่ทันกิน ก็เน่าแล้ว ปอกมะม่วงพร้อมซีลแร็ปไว้อย่างดี ไม่นานก็เริ่มดำ นั่นเป็นเพราะการหายใจอย่างต่อเนื่องของผักผลไม้ที่ปล่อยสาร เอทิลีน (Ethylene) ออกมา ทำให้ผลไม้สุกและเสียได้ในเวลาต่อมา

หลายคนอาจเคยเห็นนวัตกรรมสติกเกอร์ที่ช่วยยืดอายุผลไม้เหล่านั้นได้ เนื่องจากการทำงานของสติกเกอร์นั้นไปยับยั้งการปล่อยเอทิลีนของผลไม้ ซึ่งก็เป็นอีกทางที่ทำให้ผลไม้สุกช้าลง แต่สำหรับ Eden Agritech ผู้คิดค้นน้ำยาเคลือบผิวผลไม้กลับไปในระดับที่ลึกกว่า คือการควบคุม “การหายใจของผลไม้”

ผลไม้หายใจยังไงน่ะเหรอ ลองสังเกตเวลาเอาผลไม้ใส่ถุงที่ไม่ระบายอากาศอย่างถุงพลาสติกดู เมื่อทิ้งไว้สักพักก็จะมีละอองน้ำติดอยู่บนถุง นั่นคือการหายใจของพวกเขา ซึ่งทุกลมหายใจจะเปรียบเสมือนการลดอายุของตัวเองไปเรื่อย ๆ นั่นเอง จนผลไม้เริ่มสุกและเน่าเสียในที่สุด

“เรามองว่าที่ต่างประเทศมีผลไม้แบบพร้อมกิน (Ready to eat) เต็มไปหมดเลย แล้วทำไมที่ไทยไม่มี แถมประเทศเรายังป่าวประกาศว่าจะเป็นครัวของโลก แต่เกษตรกรกลับไม่รวย” จ๊อบ - นรภัทร เผ่านิ่มมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเด็น อะกริเท็ค จำกัด ผู้ดูแลด้านธุรกิจของบริษัทกล่าวถึงจุดประกายแรกเริ่มของบริษัทอีเด็น ที่แม้ในวันนี้ไม่ใช่เป้าหมายหลักที่อีเด็นกำลังมุ่งไปก็ตาม

อีเด็น คือสตาร์ตอัปเทคโนโลยีการเกษตรสัญชาติไทย ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลทางการเกษตรโดยวิธีธรรมชาติ ปราศจากเคมี ด้วยน้ำยาเคลือบบริโภคได้ พวกเขามองเห็นความสูญเสียระหว่างการขนส่งอย่างมหาศาลจึงเข้ามาเติมเต็มเพื่อจะเสิร์ฟให้ทุกคนบนโลกได้มีผลไม้สดใหม่กิน

เอาชนะ “เวลา” เพื่อรักษาความสดใหม่
มะม่วงที่มิลลิ (Milli) แร็ปเปอร์ชาวไทยโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีโลกอาจจะไม่ใช่มะม่วงไทย เพราะมะม่วงที่หากินได้ในอเมริกาอาจเป็นมะม่วงจากเม็กซิโก “มันยากมากเลยที่คุณจะได้กินผลไม้ไทยนอกประเทศ” จ๊อบว่า แม้อัตราการส่งออกผลไม้ในประเทศไทยค่อนข้างสูง แต่ส่วนมากจะเดินทางไปได้ไกลสุดถึงบริเวณตอนใต้ของประเทศจีนเท่านั้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือเราไม่สามารถเอาชนะด้านเวลาเพื่อไปส่งให้ได้ไกลกว่านี้” เขาชี้ให้เห็นจุดอ่อนหลัก ๆ ของผลไม้ไทย “พอเราส่งไปไม่ได้ไกล ก็ทำให้มูลค่าไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็น เพราะมูลค่าการสูญเสียระหว่างการขนส่งสูงถึงร้อยละ 30–50” งานวิจัยสมัยเรียนที่เคยทำไว้จึงเป็นประโยชน์ก็คราวนี้

“งานวิจัยนี้สามารถควบคุมการแลกเปลี่ยนแก๊สได้ เท่ากับว่าเราควบคุมการหายใจของผลไม้ได้ เราจึงทำให้ผลไม้สุกและเน่าเสียช้าลงได้” ผู้ประกอบการอีเด็นกล่าวถึง “แนทเชอแรน” (Natural + Eden = Naturen) น้ำยาเคลือบผิวยืดอายุผักผลไม้

“แนทเชอแรน” น้ำยาเคลือบผิวยืดดดดดดดดอายุ ล่องหน ไร้กลิ่นสี และกินได้
หลักการทำงานของแนทเชอเรนต่างกันไปตามชนิดและประเภทของผักผลไม้นั้น ๆ หากเป็นผลไม้สด เช่น ผลไม้ติดเปลือก ผลไม้ปอกพร้อมกิน หรือผักสด จะมีหลักการทำงานเดียวกันคือเข้าไปช่วยควบคุมการหายใจ เพียงแค่จุ่มหรือพ่นไปบนผลไม้ เพื่อชะลอการหายใจ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียความชื้น ลดปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาล และลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์

แต่หากเป็นผลไม้แห้งที่หยุดหายใจแล้ว มักใช้ก่อนทำการอบแห้ง ที่จะช่วยลดการใช้สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในผลไม้อบแห้งได้ ซึ่งเป็นสารที่เริ่มมีข้อกังวลจากประเทศปลายทางว่าควรควบคุมสารประเภทนี้ โดยนอกจากจะลดการใช้สารเคมีในผลไม้อบแห้งลงได้แล้ว ผลที่ตามมาก็คือความฉ่ำที่ยังคงเหลือในเนื้อผลไม้ที่มากขึ้นอีกด้วย

ตามสถิติ แนทเชอแรนจะช่วยยืดอายุผักผลไม้ได้ประมาณ 2-5 เท่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผักผลไม้แต่ละชนิด เช่น หากมีศัตรูพืชน้อยก็อาจจะยืดได้ถึง 5 เท่า “ที่เรากล้าพูดว่าถึง 5 เท่าได้เพราะว่าอย่างลูกค้าเกรดส่งออก เขาสามารถเข้าถึงของเกรดดีระดับนั้นได้ ซึ่งก็ทำให้ประสิทธิภาพของน้ำยาเคลือบผิวของอีเด็นดีมากตามไปด้วย”

ปัจจุบัน อีเด็นได้ทดลองแนทเชอแรนในผลไม้กว่า 30 ชนิด และในอนาคตยังมีความพยายามจะทำให้ครอบคลุมเรื่องอาหารทั้งหมด “ตอนนี้คือ V1 ของเรา และเราก็พร้อมจะมี V2 และ V3 ในอนาคต” จ๊อบแอบเผยเวอร์ชันสองที่กำลังทดลองอยู่ว่า อาจจะเป็นการเคลือบผักสลัด ผักใบ หรือซีฟู้ด เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของโลก

สวนอีเด็นของคนทั้งโลก
7 ปีที่ผ่านมาของอีเด็น พวกเขาลองผิดลองถูกกันมานับไม่ถ้วน การวางตำแหน่งของธุรกิจก็มีผลต่อการเติบโตในระยะยาวด้วย ข้อค้นพบที่สำคัญของอีเด็นคือ Right product, Right market “จากเป้าหมายเราตอนแรกคือเกษตรกร แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ไปศึกษาซัพพลายเชนให้ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราต้องหันมาทำตลาดใหม่ ซึ่งกลายเป็นกลุ่มพ่อค้าคนกลางอย่าง ผู้ส่งออก distributor, trader, exporter” จ๊อบและทีมงานพบว่า มีผู้เล่นอีกมากมายกว่าจะมาถึงมือผู้บริโภคในห่วงโซ่ของผลไม้ในเมืองไทย และพวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้แบ่งรับความเสี่ยงด้านการสูญเสียจากการเน่าเสียแทนเกษตรกร ผู้ใช้งานหลักจึงต่างจากที่อีเด็นวางไว้ตั้งแต่แรก

โรงเรียนสอนการทำธุรกิจอาจเน้นให้คำนึงถึงผู้บริโภคและซัพพลายเออร์เป็นสำคัญ แต่ในโลกความเป็นจริงของธุรกิจนั้นมีผู้มีส่วนได้เสียอีกหลายส่วน จากประสบการณ์ของอีเด็นสอนให้พวกเขามองรอบด้านให้ครบทุกมิติ “จริง ๆ มันมีมิติเรื่องของเทรนด์โลกด้วย ต้องมองเกมยาวนิดหนึ่ง และต้องเข้าใจผู้คุมกฎ หรือ Regulator ด้วย” จ๊อบเล่าในมุมของธุรกิจอาหารอย่างอีเด็น ที่จะมีด่านขององค์การอาหารและยา (อย.) ที่ต้องเริ่มตั้งต้นใหม่จากศูนย์เนื่องจากเป็นธุรกิจอาหารที่ค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย

ขณะที่เป้าหมายแท้จริงที่ซ่อนอยู่ของการเดินเกมธุรกิจของพวกเขา กลับเป็นเรื่องการแก้ปัญหาความหิวโหยของประชากรโลก “ผมว่าเป้าหมายสูงสุดของเราคือ ทำยังไงให้ปัญหาความหิวโหยมันหายไป แม้ว่าจะเริ่มต้นจากประเทศและเกษตรชาวไทย แต่พอเราเติบโตมากขึ้น เราก็คิดถึงประชากรทั้งโลกด้วย” เขาพูดพร้อมรอยยิ้มที่หวังใจไว้ว่า อีเด็นจะสามารถสร้าง “สวนอีเด็น” ที่อุดมไปด้วยอาหารป้อนคนทั้งโลกตามที่ฝันได้จริง

 

Creative Ingredients
ผลไม้สุดโปรด
ผมชอบมะม่วง โดยเฉพาะเนื้อสัมผัสและรสชาติของมะม่วงสุก จริง ๆ ชอบทุกพันธุ์เลย จะเขียวเสวย มหาชนกได้หมด แต่ไม่ใช่บิ๊กแฟนของ R2E2 ที่นิยมส่งออกเท่าไร 

ผลไม้ชนิดแรกในสวนของอีเด็น
ส้มโอครับ ตอนนั้นเราไปเจอปัญหาส้มโอขาดตลาดในช่วงปีที่น้ำท่วมใหญ่ จึงมุ่งไปที่ส้มโอก่อน แต่วันนี้ส้มโอไม่ได้เป็นผลไม้เรือธงของเราแล้ว แม้ว่าการส่งออกส้มโอจะยังทำได้ไม่ค่อยดีเพราะว่าคนยังไม่ค่อยรู้จัก ส่วนตัวผมคิดว่ามะม่วงน่าจะกลายมาเป็นผลไม้เรือธงของประเทศไทยได้ แต่ถ้าเป็นตลาดในประเทศ ผู้ประกอบการจะใช้อีเด็นกับฝรั่งตัดแต่ง

ผลไม้สุดยี้ แต่ตอนนี้กลับรัก
ก่อนจะมาทำอีเดน ผมไม่กินทุเรียนเพราะไม่ชอบกลิ่น แต่ตอนนี้ผมกินทุเรียนยับเลยครับ ชอบแบบสุกพอดี ไม่เละ สารภาพว่าตอนแรกที่ต้องกินเพราะว่าลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา หลังจากนั้นก็เลยกินทุเรียนมาตลอด มันเปิดโลกมากเลย

 

ภาพ : Eden Agritech

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร