5 เทรนด์วัสดุทางเลือก...สู่จุดสมดุลใหม่ในการผลิต ใช้ และทิ้ง
Technology & Innovation

5 เทรนด์วัสดุทางเลือก...สู่จุดสมดุลใหม่ในการผลิต ใช้ และทิ้ง

  • 25 Sep 2023
  • 709

การออกแบบวัสดุเพื่อการใช้สอยในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงจุดมุ่งหมายในการตอบโจทย์ผู้ใช้งานอีกต่อไป แต่ผู้ออกแบบวัสดุยังจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของตัวผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านกระบวนการผลิต และช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ เช่น เมื่อมันหมดอายุการใช้งานจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาวหรือไม่และอย่างไร

ในงานเสวนา “Co-Create with Nature ธรรมชาติสรรสร้าง วัสดุสร้างสรรค์” จะชวนเรามาร่วมค้นหาทางออกของวัสดุที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบทั้ง 5 ท่านผู้สร้างสมดุลของความยั่งยืนระหว่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ และธรรมชาติ

“ผักตบชวา วัชพืชที่ช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสใหม่ของวัสดุกันกระแทก”
คุณฐิติมา พิมพามา แบรนด์ CHVA 
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ CHVA มาจากธุรกิจของตกแต่งบ้านของคุณฐิติมา ที่ต้องการความปลอดภัยสำหรับสินค้าด้านการขนส่ง ทำให้คุณฐิติมาเริ่มค้นหา “วัสดุกันกระแทก” ที่มาจากธรรมชาติ เนื่องจากวัสดุกันกระแทกจากพลาสติกกลายเป็นปัญหาสำคัญในการสร้างขยะเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการได้เห็นว่าจำนวน “ผักตบชวา” ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเสียจากการขุดลอกคูคลองก็มีคุณสมบัติที่สามารถทดแทนวัสดุกันกระแทกจากพลาสติกได้อย่างดี

เนื่องจากโครงสร้างของผักตบชวามีคุณสมบัติคล้ายกับฟองน้ำ และมีรูพรุน อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบามากเมื่อผ่านการตากแดดจึงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการขนส่ง นอกจากนี้การเป็นวัสดุจากธรรมชาติยังทำให้ไม่สร้างกลิ่นเหม็นติดอยู่ในกล่องพัสดุ ต่างจากวัสดุกันกระแทกชนิดพลาสติก ผู้รับพัสดุยังสามารถนำผักตบชวาไปใช้งานในจุดประสงค์อื่นต่อไปได้ อย่างการใช้รองกรงสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก หรือผสมดินรองใต้กระถางต้นไม้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถานะของผักตบชวาที่ถูกจัดอยู่ในหมวดพืชต่างถิ่นซึ่งสามารถเติบโตได้ในหลายสภาพแวดล้อมจึงทำให้ต้องใส่ใจในกระบวนการผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สะอาดและปลอดภัย ให้นำไปใช้งานกับการขนส่งอาหารได้ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์การกีฬา อะไหล่อุปกรณ์ โดยยังคงรักษาแนวคิดของการเป็นวัสดุจากธรรมชาติและช่วยสร้างความยั่งยืนในอนาคต

“นักสร้างสรรค์ ที่นำเอาความงามของกระเบื้องเกรียบมาตีความในรูปแบบใหม่”
คุณวิวัฒน์ แซ่ลี้ แบรนด์ LEENON
จากประสบการณ์ในฐานะดีไซเนอร์ผู้ผ่านการจัดงานนิทรรศการมาอย่างมากมาย ทำให้คุณวิวัฒน์ได้เก็บเกี่ยวองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานวัสดุสำหรับการทำงานที่หลากหลาย ประกอบกับความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับวัสดุที่เรียกว่า “กระจกเกรียบ” ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในงานตกแต่งศาสนสถานของไทยที่ถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่หลังจากสูญหายไปเป็นเวลานาน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกระจกขนาดบางที่สามารถตัดด้วยกรรไกร หรือตอกด้วยตะปูได้ 

ความสนใจของกระจกเกรียบพาให้คุณวิวัฒน์ได้ไปพบกับงานกระเบื้องที่ใช้ตกแต่งบนสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ที่มีการใช้กระเบื้องในงานโมเสกภายนอกของวัด ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติคงทน และมีสีสันสวยงามใกล้เคียงกับกระจกเกรียบ จึงมีความคิดในการประยุกต์กระเบี้องชนิดนี้มาใช้ในงานประติมากรรม และปรับเปลี่ยนให้มีความร่วมสมัย จึงได้เรียกมันว่า “กระเบื้องเกรียบ”

กระเบื้องเกรียบสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่น นำไปปักลงบนผ้าเพื่อสร้างความสวยงามในกับผลิตภัณฑ์แฟชั่น หรือนำไปเป็นวัสดุหุ้มพื้นผิวของโต๊ะหมู่บูชาเพื่อให้เกิดการตีความหมายใหม่ รวมถึงเพิ่มรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ กระเบื้องเกรียบยังสามารถเชื่อมด้วยโลหะ ทำให้สามารถขึ้นรูปและเกิดโครงสร้างได้ด้วยตัวมันเอง ทำให้วัสดุที่เคยถูกใช้งานสำหรับศาสนสถานกลายเป็นวัสดุที่สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ และของใช้ชนิดต่าง ๆ รวมถึงการต่อยอดไปสู่การสร้างเป็นผลงานศิลปะ และประยุกต์ต่อยอดเข้ากับวัสดุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

“จาก Local สู่เลอค่า วัสดุหนังเทียมจากเปลือกโกโก้”
คุณคธาทร สุขคุ้ม วิสาหกิจชุมชนคุ้มเพชรโกโก้
การเติบโตของธุรกิจการปลูกโกโก้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลของปี 2564 พบว่าจำนวนไร่โกโก้ทั่วประเทศมีมากถึง 7,244 ไร่ ต่างจากปี 2554 ที่มีอยู่เพียง 319 ไร่ โดยปัจจัยหลักของการนิยมปลูกโกโก้มากขึ้น มาจากสภาพแวดล้อมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่เหมาะสมกับการปลูกโกโก้ได้อย่างมีคุณภาพ และการเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยม

เช่นเดียวกับคุณคธาทรที่ประกอบธุรกิจสวนยางพาราเป็นทุนเดิม ก็หันมาสนใจการปลูกโกโก้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจยางพาราที่มีราคาตกต่ำ นอกจากนี้ ต้นโกโก้ยังปลูกแทรกไปในสวนยางพาราได้ ทำให้สามารถประกอบธุรกิจควบคู่กันไป แต่ถึงอย่างนั้น การเก็บเกี่ยวดาร์กโกโก้จำนวน 1 ไร่ ก็สร้างขยะจากเปลือกโกโก้ไว้มากถึง 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล สะท้อนให้คุณคธาทรต้องกลับมาทบทวนว่า ในฐานะของผู้ทำธุรกิจโกโก้ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควรหน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน

จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจยางพารา ทำให้คุณคธาทรมองเห็นว่าเปลือกของโกโก้สามารถนำมาผลิตเป็น “หนังเทียม” ได้ จึงทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น กระเป๋าหนังเทียมด้วยทักษะฝีมือของช่างสานในชุมชน รวมไปถึงยังมีการรวมตัวกันของเครือข่ายเกษตกรผู้ปลูกทุเรียนและข้าวสาลี ที่สามารถนำเปลือกผลผลิตเหลือทิ้งมาเป็นสร้างเป็นหนังเทียมได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างมูลค่าจากขยะทางการเกษตร ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ ช่วยสร้างเครือข่ายของเกษตรกรและช่างฝีมือระหว่างชุมชนได้แล้ว ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้ในอนาคต

“Re-Up คอลเล็กชันที่เน้นการรีไซเคิลวัสดุอย่างไม่รู้จบ สำหรับเฟอร์นิเจอร์แนวบูทิก”
คุณปภพ ว่องพาณิชย์ แบรนด์ TAKE HOME DESIGN
การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากพลาสติก เป็นความตั้งใจหนึ่งของคุณปภพในฐานะดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และการได้ร่วมงานกับบริษัท Qualy ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ของใช้และของตกแต่งบ้านจากพลาสติก ก็ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม คุณปภพก็ยังคงคำนึงถึงแนวคิดการออกแบบที่ลดต้นทุน รวมถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคอลเล็กชันผลงานที่ชื่อว่า “Re-Up” ผลงานของตกแต่งบ้านจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเป็นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่จากแม่พิมพ์สำเร็จรูปของผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัท Qualy พร้อมกับนำเศษพลาสติกเหลือใช้มาขึ้นรูปสำหรับผลงานชิ้นใหม่

หนึ่งในผลงานของคอลเล็กชัน “Re-Up” ที่คุณปภพนำเสนอคือโต๊ะข้าง ที่ต่อยอดมาจากการใช้แม่พิมพ์สำหรับโคมไฟ โดยมองเห็นว่า รูปทรงของโคมไฟมีโครงสร้างสำหรับใช้งานเป็นฐานโต๊ะได้ จึงลองนำมาประกอบเข้ากับขาโต๊ะและหน้าโต๊ะที่ใช้ไม้ยางพาราประสาน ซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือจากการผลิตน้ำยาง นอกจากนี้ ยังเลือกใช้พลาสติกประเภทที่ให้ความใสเป็นวัสดุในการทำฐานโต๊ะ ส่วนโครงสร้างที่เคยถูกออกแบบให้เป็นโคมไฟ ก็ทำให้สามารถติดตั้งหลอดไฟให้ความสว่างจากพื้นห้อง ส่งผลให้เกิดเป็นผลงานโต๊ะข้างสำหรับวางเครื่องดื่มและของใช้เบ็ดเตล็ดซึ่งสามารถให้แสงสว่างจากฐานโต๊ะได้ 

ผลงานการออกแบบของคุณปภพจึงเป็นการช่วยลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง พร้อมนำเสนอแนวทางความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เกิดจากผลงานเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เศษกระดูกก้างปลาและกากถั่วแระเหลือทิ้งจากการแปรรูป สู่เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้”
ผศ.ดร.วรวัชร วัฒนฐานะ ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทยประสบปัญหาจากขยะเหลือทิ้งเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งจุดประกายให้คุณวรวัชร รวมทั้งอาจารย์ และนักวิจัย จากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองหาการพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาขยะและเพิ่มมูลค่าในกับขยะเหลือทิ้งจากการเกษตร

คุณวรวัชรได้ลงพื้นที่ไปดูปัญหาขยะการเกษตรในแต่ละชุมชน จนได้พบกับผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก “ปลาดุก” ของชุมชนลำไทรพัฒนา ที่กำลังเผชิญกับปัญหากลิ่นเหม็นจากเศษหัวปลาดุกที่เป็นขยะจากการแปรรูปอาหาร ในขณะเดียวกันชุมชนใกล้เคียงที่มีการแปรรูปถั่วแระญี่ปุ่น ก็พบปัญหากากถั่วเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดไปเดียในการสร้างมูลค่าให้กับขยะทั้งสองชนิดนี้

ในการทดลอง ทีมวิจัยค้นพบว่า หัวก้างปลามีสารประกอบไฮดรอกซีอะพาไทต์ (Hydroxyapatite) ที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบอยู่มาก หากนำมาผสมกับพลาสติกชีวภาพ ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้าง สามารถผลิตออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ชีวภาพหรืออุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ นอกจากนี้ หากนำมาผสมกับกากถั่วที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ก็ช่วยให้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพเหล่านี้สามารถเพิ่มแร่ธาตุให้กับดินเมื่อมันย่อยสลาย กลายเป็นผลิตภัณฑ์จากขยะการเกษตรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนได้อย่างเต็มที่

ไม่เพียงแค่บรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากหัวก้างปลา และกากถั่ว ขยะทั้งสองชนิดนี้ยังสามารถต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นอย่างยาสีฟันแคลเซียม ฟิล์มชีวภาพ และวัสดุปรุงดิน ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ตัวอย่างที่น่าสนใจจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุทั้ง 5 นี้ ไม่เพียงช่วยให้เรามองเห็นทิศทางวัสดุยั่งยืนในอนาคตได้ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม แต่ความตั้งใจของเหล่านักออกแบบ ยังช่วยจุดประกายให้เกิดความร่วมมือจากผู้บริโภค ในการเปิดรับผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่เหล่านี้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สู่ส่วนรวม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในอนาคต

เรื่อง : กองบรรณาธิการ